เครือข่ายแรงงานฯ ยื่น กมธ.เเรงงานเร่งกำหนดวันเลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม
เครือข่ายแรงงานฯ ยื่น กมธ.เเรงงานกำหนดวันเลือกตั้ง คณะกรรมการประกันสังคม ภายใน ม.ย. 65 ปธ.กมธ.ยืนยันช่วยเหลือทั้ง 4 เรื่องอย่างเต็มที่
วันนี้ (23 ก.พ. 65) นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการแรงงาน พร้อมด้วยคณะ เข้ารับยื่นหนังสือจากตัวแทนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้ง 4 คณะ ประกอบด้วยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย ตัวแทนคณะก้าวหน้าจังหวัดนนทบุรี และพลเรือตรี ณัฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา
นางสาวธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือถึง กมธ.การเเรงงาน เพื่อต้องการให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ แทนชุดที่ถูกแต่งตั้งโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่40/2558 หลังจากเคยไปยื่นเรื่องที่กระทรวงแรงงานแต่ไม่ได้รับความชัดเจน ซึ่งเป็นระเวลากว่า 7 ปีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำการเลือกตั้ง ซึ่งมีมาตรการให้รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ดังนี้
- กำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมภายในเดือน มิ.ย. 65 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ตามประกาศเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 64
- แก้ไขการกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน โดยการกำหนดไว้ในข้อที่ 16 ของระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ขัดแยังกับหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสาม เพราะ พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่มีข้อกำหนดสัญชาติไทยไว้ ขณะที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นนายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบโดยเท่าเทียมกัน
- แก้ไขการกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40
4.แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตาม
สัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน
- จัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการเลือกตั้งแต่ไม่มีเวลาได้เข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งครั้งนี้
ด้านนายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย เข้ายื่นหนังสือต่อ กมธ.การเเรงงาน กรณีสมาชิกสมาพันธ์ฯ ถูกเรียกเก็บค่าปรับจากระบบ M-Flow หรือจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ซึ่งทางสมาพันธ์ฯยอมรับว่ามีความเข้าใจผิดต่อการประชาสัมพันธ์ข่าวของกรมทางหลวง ทำให้มีสมาชิกบางรายถูกปรับ 300-1,000 บาท หลังจากนั้นก็ได้โทรสอบถามกับทางกรมทางหลวง ซึ่งยอมรับว่าเกิดความผิดพลาดในการประชาสัมพันธ์ข่าว แต่ยืนยันที่จะเก็บค่าปรับ 10 เท่าจากสมาชิก ทำให้เป็นการซ้ำเติมผู้ขับรถแท็กซี่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหารายได้ในปัจจุบัน
ต่อมานางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ ตัวแทนคณะก้าวหน้าจังหวัดนนทบุรี ได้รับการร้องเรียนจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานและต้องการแรงงานต่างชาติมาทำงาน และการขอใบอนุญาตขึ้นทะเบียนแรงงานที่ล่าช้า ซึ่งระหว่างรอการออกใบอนุญาติก็ถูกกดดันหรือเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ซึ่งทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงอยากให้ทางกมธ.การแรงงานได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงานให้ดำเนินการเปิดช่องทางพิเศษหรือผ่อนผันการตรวจสอบ กดดัน โดยยืนยันว่าผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบการอยากใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านพลเรือตรี ณัฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้เข้าร้องเรียน หลังวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ไซต์ก่อสร้างถล่มทำให้มีคนงานเสียชีวิตถึง 3 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย ซึ่งตนเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ต้องการให้กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตราการเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ในไซต์ก่อสร้างอื่น และไม่อยากให้มองเป็นเรื่องปกติ ซึ่งถ้ามีเสียชีวิตก็ให้เยียวยาและปล่อยผ่านไป เพราะไม่มีการชดเชยใดจะแทนที่ความสูญเสียของชีวิตมนุษย์ได้
ซึ่งนายสุเทพ ได้กล่าวว่า เข้าใจความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างดี และขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน ท่านประธานสภาที่ให้โอกาสกับพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีความเดือดร้อน ได้เข้ามายื่นหนังสือแสดงความเดือดร้อน ซึ่งตนจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่