‘นิกร’ สรุปความเห็นแนวทางการทำประชามติ จ่อชง คกก.ชุดใหญ่ 25 ธ.ค.นี้

‘นิกร’ สรุปความเห็นแนวทางการทำประชามติ ทำประชามติ 3 ครั้ง-ประเด็นคำถามเห็นด้วยแก้ รธน.หรือไม่-ที่มาของ สสร. 100 คน จ่อชง คกก.ชุดใหญ่ 25 ธ.ค.นี้
นายนิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการว่า จากการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการทําประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญของนิสิต นักศึกษากลุ่มอาชีพ และภาคส่วนต่าง ๆ ประชาชน 4 ภาค รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อจัดทํารายงานเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พิจารณา โดยที่คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ ใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.จํานวนครั้งในการทําประชามติ เนื่องจากเสียงส่วนมากของทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการจัดให้มีการทําประชามติก่อนเริ่มดําเนินการในกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเห็นด้วยให้มีการทําประชามติ เมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้รัฐบาลจัดให้มี การออกเสียงประชามติ จํานวน 3 ครั้ง
2.ประเด็นคําถามประชามติ เห็นว่าควรเป็นคําถามที่ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา ครอบคลุมสาระสําคัญที่จะสร้างแนวร่วมเพื่อความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยถามเพียงคําถามเดียว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภา” และแบ่งเป็น 2 คําถาม คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวดหนึ่งและหมวดสอง” และ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
3.ประเด็นจํานวนและที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แม้กลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน และ สส. เสียงส่วนมากเห็นด้วยกับการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่เสียงส่วนมากอีกส่วนหนึ่งก็เห็นด้วยที่ สสร.จะมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วน และวิธีการได้มา ตามที่กรรมาธิการกําหนด ประกอบกับ สว.เสียงส่วนมาก เห็นด้วยกับ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วน และวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกําหนด
ทั้งนี้ จึงมีความเห็นและข้อเสนอแนะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทําหน้าที่จัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 100 คน แบ่งเป็น
1.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน
2.รัฐสภาเลือกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ จํานวน 23 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จํานวน 5 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ จํานวน 4 คน ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากําหนด จํานวน 4 คน รัฐสภาเลือกจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ หรือทํางาน หรือเคยทํางานในองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ด้านสตรี ด้านผู้สูงอายุ ด้านผู้พิการหรือทุพพลภาพ และด้านผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน โดยรัฐสภาต้องเป็นผู้มีมติโดยรัฐสภา
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า ประชาชนมีความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แตกต่างหลากหลาย จึงจะรวบรวมความเห็นของประชาชน เป็นภาคผนวกเพื่อจัดส่งให้องค์กรที่มีหน้าที่จัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
ส่วนข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ จะต้องให้ ครม. เห็นชอบหรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ครม.จะเป็นผู้สรุป โดยการประชุมในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอที่ประชุมชุดใหญ่ พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำประชามติในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ในการจัดทำประชามติ ไม่จำเป็นต้องถามศาลรัฐธรรมนูญ