POLITICS

ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ แนะรัฐสภารับคำร้องปม 8 ปีนายกฯ อย่าปล่อย ปชช.ลงถนน

ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ แนะรัฐสภารับคำร้องปม 8 ปีนายกฯ เป็นภาระ อย่าปล่อยประชาชนตากแดดลงถนน หวังสังคมเคารพหลักกฎหมาย-กลไกศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (22 ส.ค. 65) นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังร่วมประชุมสัมมนาวิชาการ Morning Talk ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งมีประเด็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาหลากภาคส่วนทั้ง ส.ว. อย่างนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนักวิชาการ อาทิ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก

นายดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการตีความทั้ง 3 แนวทาง คือ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2557, 2560 และ 2562 ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรนับจากพระบรมราชโองการแต่งตั้งที่นำเข้าสู่ตำแหน่งเป็นหลัก จึงตัดการนับจากรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 บังคับใช้

แม้ รศ.เจษฎ์ และผู้เข้าประชุมบางส่วน เห็นว่าควรพิจารณา รธน. ม.264 ให้คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย แต่ส่วนตัวมองว่าให้ดูพระบรมราชโองการว่าอาศัยมาตราอะไรในการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งเป็นหลัก ก็จะเห็นชัดว่าควรนับจากเมื่อใด

นายดิเรกฤทธิ์ ย้ำว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นความเห็นทางวิชาการ สุดท้ายองค์กรที่วินิจฉัยได้คือศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องทั้งหลายเราควรเคารพกติกา เมื่อมีองค์กรวินิจฉัยปัญหานี้อยู่แล้ว เราจะทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรง และลงถนนไปทำไม ควรเคารพศาลรัฐธรรมนูญ

นายดิเรกฤทธิ์ มองว่า ภาคประชาชนมีแรงกดดันมาตลอด ด้วยความเห็นหรืออุดมการณ์ที่แสดงออกมา ซึ่งเราเคารพทุกความเห็น แต่ส่วนตัวคิดว่าควรอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งนี้ คงกดดันศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ท่านทนต่อกระแสและทำตามหน้าที่

“ทุกฝ่ายควรทำหน้าที่ของตัวเอง หรือแรงกดดันใดที่จะมีผลต่อการทำหน้าที่ของเรา ส.ส. และ ส.ว. ก็ควรทำหน้าที่มาประชุมและออกกฎหมาย เราเองก็มีดุลยพินิจโดยอิสระที่จะทำได้ โดยการให้คำแนะนำประชาชน หรือแม้แต่ควรรับคำร้องของประชาชนเป็นภาระของเรา หากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตัดสิน เราก็ทำหน้าที่ของเรา ไม่ควรให้ประชาชนไปลงถนน ตากแดดเดือดร้อน” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องสามัญสำนึกจากนายกรัฐมนตรี นายดิเรกฤทธิ์ ตอบว่า มองยากเหมือนกันเมื่ออยู่ในอำนาจ อย่างไรก็ดี นี่เป็นกติกาบ้านเมืองที่ควรใช้ต่อไป แม้แง่มุมของฝ่ายที่บอกว่าเป็นการผูกขาดให้อยู่ต่อ แต่บางท่านก็บอกว่านี่คือการทำให้ท่านอยู่ในกติกาตามที่ศาลตัดสิน สุดท้าย อย่างไรก็ต้องดูในแง่มุมกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งมีกระบวนการอยู่แล้ว และเราควรเดินตามครรลองประชาธิปไตยเพื่อให้บ้านเมืองไปต่อได้

หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง นายดิเรกฤทธิ์ มองว่า ส.ว. ไม่ต้องเตรียมตัวอะไร ทำกฎหมายต่อไปตามวาระ เราก็มีภารกิจอยู่แล้ว หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ก็ดูว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร ส่วนการเลือกนายกฯ คนใหม่ พร้อมอยู่แล้วเพราะเป็นหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

Related Posts

Send this to a friend