รมว.ยุติธรรม ยืนยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง ปัดชั้น 14 เป็นชั้นพิเศษ
รมว.ยุติธรรม ยังไม่ได้หนังสือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ยืนยัน ‘ทักษิณ’ ป่วยจริง ปัดชั้น 14 เป็นชั้นพิเศษ มีเคสรักษาตัวเกิน 120 วันอีกจำนวนมาก หลัง ‘ชลธิชา’ ถามกระทู้สดนายกฯ ถึงเกณฑ์ให้ผู้ต้องขังรักษาตัวภายนอก ไม่อยากให้ความเชื่อมั่นลดไปกว่านี้
วันนี้ (21 ธ.ค. 66) นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ถามนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายการส่งตัวผู้ต้องขังเข้ารับการรักษานอกเรือนจำ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ณ อาคารรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยประธานฯ ชี้แจงว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีหนังสือแจ้งว่า กระทู้สดเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน
นางสาวชลธิชา จึงเปิดประเด็นกระทู้ถามสดว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะสร้างความเข็มแข็งในหลักนิติธรรม และประกันว่ากฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้อย่างทุกคนอย่างเสมอภาค ด้วยเหตุนี้จึงใช้โอกาสนี้ตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมาย และนโยบายต่อผู้ต้องขัง ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากมีอาการเจ็บป่วยเกินกำลังศักยภาพของเรือนจำ ต้องได้รับการส่งต่อให้โรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพเพียงพอเช่นกัน
“ไม่ใช่ว่าดิฉันไม่ต้องการให้คุณทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธินี้ แต่ดิฉันต้องการถามถึงเกณฑ์พิจารณาเรื่องนี้ที่มีบรรทัดฐานว่า สุดท้ายแล้วกรมราชทัณฑ์จะมีเกณฑ์พิจารณาการให้สิทธิผู้ต้องขังไปรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไร … ไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมของบ้านเราถูกตั้งคำถามหรือลดความเชื่อมั่นของสังคมมากกว่านี้” นางสาวชลธิชา กล่าว
นางสาวชลธิชา ถามว่า เนื่องด้วยกรณีของนายทักษิณนั้น ได้รับการส่งตัวไปรักษาพยาบาลตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่เรือนจำ ขณะนี้เป็นเวลาเกินกว่า 120 วันแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ต้องขังเพียง 4 คนเท่านั้นที่ได้รับการรักษานอกเรือนจำมาเกินกว่า 120 วัน จึงต้องการสอบถามเกณฑ์พิจารณาส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาด้านนอกเรือนจำ ทั้งยังผ่านความเห็นแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ การอนุมัติของพัศดีและ ผบ.เรือนจำ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2559 หรือไม่ และเหตุใดจึงให้นายทักษิณ จึงเข้ารับการรักษา ณ ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นห้องพักพิเศษแยกจากห้องพักผู้ป่วยทั่วไป นอกจากนี้ ยังต้องการถามถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีความเป็นไปได้ในการใช้ระเบียบใหม่แก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำอย่างไร ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายระเบียบนี้มีจำนวนเท่าใด และครอบคลุมผู้ต้องขังกลุ่มหรือคดีประเภทใดบ้าง
ทั้งนี้ ประธานการประชุม ยังกล่าวเตือน นางสาวชลธิชา ว่าการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจานั้น ถามได้ถึง 3 ครั้ง และผู้ตั้งกระทู้ถามต้องถาม ไม่ใช่บรรยาย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรีว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในเวลาล่วงมาเกือบ 20 วัน คือวันที่ 11 กันยายน 2566 ซึ่งกระบวนการของนายทักษิณนั้น เป็นกระบวนการแรกที่รัฐบาลนี้ไม่ได้รับรู้ แต่ต้องรับรู้ตามข่าวเหมือนประชาชน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งตราขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลนี้ยืนยันในเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งคือหลักที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ นอกจากจะใช้ไม่ได้ ยังขัดกับหลักนิติธรรมด้วย การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ระบุเจตนารมณ์การตรากฎหมายไว้ชัดเจนว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มีการบังคับใช้เป็นเวลายาวนาน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายอาญา ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักสากล เมื่อตรวจดูเหตุผลการออกกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ถูกตราหน้าจากสังคมโลก นั่นคือมีเรือนจำที่นักโทษล้นคุก เปรียบเสมือนการทรมาน ไม่มีสถานที่อื่นใดคุมขังนอกจากเรือนจำ ทำให้ระบบพัฒนาพฤตินิสัยและการบริหารเรือนจำไม่เป็นไปตามที่กำหนด สมควรให้มีคณะกรรมการราชทัณฑ์ 29 คน ให้มีนโยบายบริหารงานราชทัณฑ์และปรับปรุงกฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้ตรากฎหมายลำดับรองตามมาด้วย จึงมีการออกกฎหมายลูกอย่างระเบียบดังกล่าวตามมา ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังเปิดเผยว่า ไม่มีการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์เลย จึงตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อออกระเบียบดังกล่าวออกมา
ส่วนกรณีนายทักษิณนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ได้เรียกร้องให้นายทักษิณ กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อพิจารณาในหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากมีการรักษาพยาบาลเกินกว่า 120 วัน จะต้องมีหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมความเห็นแพทย์ผู้รักษา และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รายงานให้รัฐมนตรีทราบ รัฐมนตรีไม่ใช่ผู้อนุมัติ
“สำหรับผู้… คนอื่นที่ป่วย มีอย่างนี้บ้างหรือไม่ ก็มีรายงาน ก็มี มีจำนวนมากเลยครับ เป็นหลัก… ก็มีจำนวนมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอย่างตะกุกตะกัก
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า แม้วันนี้ยังไม่มีหลักฐาน แต่กระบวนการตรวจสอบกรณีนายทักษิณ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมนั้นมีจำนวนมาก ทั้งการชี้แจงกรรมาธิการของรัฐสภา และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรแบบนั้นน่าจะเป็นที่ยอมรับได้
“ผมจะพูดข้อเท็จจริงต่อเมื่อมีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่ไม่มีพยานหลักฐาน ถือว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง ผมเองก็รอ และทราบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าน่าจะวันนี้ หรือถึงเมื่อไร เพราะถึงเมื่อวานเอกสารก็ยังไม่มา ส่วนรายงาน ถ้าพูดแค่นี้ มันเหมือนศรีธนญชัย คือเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบตามกฎหมาย ก็ไม่ได้ติดตามเหรอ ?”
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า สถานที่ที่นายทักษิณอยู่นั้น เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถออกไปไหนได้ และแพทย์ยืนยันว่า นายทักษิณ ป่วยจริง แต่เนื่องด้วย พ.ร.บ. เกี่ยวกับทางการแพทย์ จึงไม่อาจดูผลการรักษาได้ หากผู้ป่วยไม่ยินยอม
“ถามจากคุณหมอตรง ๆ คุณหมอยังอยู่ข้างหลังนี่เลย ยืนยันว่าท่านป่วยจริง ท่านมีหลักฐานตามที่ปรากฏจริง ประเด็นดังกล่าวก็มีการรายงาน ถ้าผมอ่านจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เป็นเหมือนเรื่องเดิม ผู้ป่วยมีหลายโรค มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีความดันโลหิตสูง ไล่มาหมด เป็นความเห็นแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์”
นางสาวชลธิชา ถามครั้งที่สองว่า กรณีนายทักษิณรักษานอกเรือนจำ รวมถึงการพักห้องพิเศษบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นไปตามหลักการปกติหรือไม่ ตลอดจนการบังคับใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566
พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เท่าที่ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงนั้น เป็นไปตามหลักการปกติ โรงพยาบาลถือเป็นเรือนจำต่อเนื่องที่มีผู้คุม มีระเบียบปฏิบัติเหมือนเรือนจำทุกอย่าง ส่วนระเบียบใหม่นั้นมีแนวทางปฏิบัติ ซึ่งระเบียบดังกล่าวยังไม่เสร็จ เพราะต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยมีงานวิจัยรองรับจำนวนมาก
“ไม่มีอภิสิทธิ์สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างหลักนิติธรรม จากคะแนน 0.25 เพื่ออยากให้ได้ 0.5 เต็ม 1 เหมือนประเทศอื่นเขา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
นางสาวชลธิชา ถามย้ำครั้งสุดท้ายว่า กฎการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ห้ามไม่ให้ผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกจากห้องพักผู้ป่วยทั่วไป รัฐมนตรีมีการตรวจสอบให้สังคมมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติ พร้อมขอให้รับปากส่งเอกสารมาชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปด้วย
พ.ต.อ.ทวี ตอบชี้แจงครั้งสุดท้ายว่า ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ ส่วนรายงานเอกสารที่จะให้เปิดเผยนั้น จะมอบให้ แต่ขอสงวนเรื่องอาการป่วยที่ต้องเป็นความลับตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำให้ตนเองผิดกฎหมายด้วย
“แต่ว่าก็มีวิธีการเรื่องความปลอดภัย ผมยังพบผู้ใหญ่ ก็ไปเยี่ยมญาติชั้น 14 เหมือนกัน แต่เป็นคนละส่วน แต่ว่าเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย ของราชทัณฑ์มี นี่คือสิ่งที่ได้รับการยืนยันจากเอกสาร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว