นายกฯ ขอนักลงทุนเชื่อมั่นเสถียรภาพรัฐบาล ยัน อยู่ครบเทอม แจกเงินหมื่นเฟส 2 พุ่งเป้าเงินสะพัด
นายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนา งาน Forbes Global CEO Conference ขอนักลงทุนเชื่อมั่นเสถียรภาพรัฐบาลอยู่ครบเทอม ปลื้มถูกจัดลำดับเป็นนายกหญิงอายุน้อยสุดของโลก กระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงินหมื่นเฟส 2 พุ่งเป้าเงินสะพัด ลั่น จุดยืนไทยวางตัวเป็นทูตสันติภาพ พร้อมปรับตัวตามนโยบายทรัมป์
วันนี้ (21 พ.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมกิจกรรมการสนทนาแบบ one-on-one ในกิจกรรมของ Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 โดยนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมสนทนากับ Molra Forbes บอกเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนมีโอกาสได้กล่าววิสัยทัศน์ ปี 2568 ที่ต้องสร้างความเชื่อใจและเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักทุน เพราะประเทศไทยไม่ได้เติบโตอย่างที่ควรเป็นทศวรรษ จึงควรมีแหล่งลงทุนและแหล่งรายได้ใหม่ และที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการวางแผนเชิญนักลงทุนมายังประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี ยังเล่าถึงเดือนแรกที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีนักลงทุนบางรายที่ยังรู้สึกว่ายังตั้งคำถามว่าสามารถลงทุนในไทยได้หรือไม่ และนโยบายยังคงเดิมอยู่หรือไม่ ซึ่งตนก็พยายามอธิบายว่าตนและนายเศรษฐา มีความใกล้ชิดกัน และนโยบายก็มาจากพรรคเดิม ก็จะดำเนินการนโยบายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนแรกได้ออกไปบอกกับผู้นำ CEO ทั่วโลก ขอให้ทุกคนเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี และพอมีโอกาสในการที่จะได้เข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ ไปคุยกับพวกเขาตื่นเต้นมาก ๆ ที่จะได้ลงทุนกับไทย และตนเองก็เคยเป็นภาคเอกชนมาก่อนทำธุรกิจโรงแรม จึงเข้าใจความต้องการต่างๆของเอกชน
รัฐบาลมีโอกาสที่จะได้คุยกับ CEO ที่สนใจในการลงทุน และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการลงทุน ก็เข้าใจว่าไทย มีเอกสารมากมายหลาย ๆ ขั้นตอน ให้อาจจะทำให้ภาคเอกชนปวดหัว ซึ่งไทยมีหน่วยงานด้าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI สนับสนุนการลงทุน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า นักลงทุนในประเทศไทย หากสามารถมีการฝึกอบรมให้เข้าใจภาษาไทยได้ รวมไปถึงการเรียนรู้ เกี่ยวกับธุรกิจของ AI และเทคโนโลยี ก็ถือเป็นเรื่องแรกที่ตนร้องขอ ในการที่จะทำธุรกิจในประเทศไทย และขั้นตอนต่อไปตนก็พยายามที่จะปรับปรุงเรื่องการศึกษาในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น เท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมามีการเติบโต ทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายบางฉบับ เพื่อการเปลี่ยนผ่านในการทำธุรกิจ
เมื่อถามถึงลำดับความสำคัญในเยือนเปรู ช่วงหนึ่งมีการพูดถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเพื่อดึงดูดนักลงทุน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างเสถียรภาพเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งตนเข้าใจว่าความเติบโตความง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากๆว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะที่ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีรากฐานทางวัฒนธรรมที่ยาวนาน ซึ่งต่างชาติอยากเรียนรู้วัฒนธรรม ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงแต่ละเทศกาลเข้าด้วยการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยู่นานมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังระบุถึง เสถียรภาพของรัฐบาล ทุกอย่างก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น ต้องสร้างความมั่นใจทั้งในและนอกประเทศก่อน และทำให้คนไทยเชื่อมั่นในตัวเอง ว่ารัฐบาลสนับสนุนจริงๆในการทำธุรกิจใหม่จริงๆ เพราะส่วนใหญ่กว่า 70% เป็น ธุรกิจของประเทศไทยเป็น SME.จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขร่างกฎหมาย เพื่อให้ง่ายขึ้นสำหรับคนไทย
โดยนายกรัฐมนตรียังเล่าถึงประสบการณ์บนเวทีการประชุมผู้นำเอเปค ว่าตนเป็นผู้นำที่เป็นผู้หญิงที่อายุน้อยที่สุด มีตนและประธานาธิบดีของเปรู โดยในเบื้องต้นตนพยายามสร้างความเชื่อมั่น ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและแก้ไขปัญหา ต่างๆในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็พยายามทำหลายอย่างไปพร้อมกันเพื่อที่จะแก้ไข ตั้งแต่นโยบายการพักหนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมถึงในการออกมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุน ซึ่งก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีมาตรฐานออกมา แต่ก็ยังช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่
ซึ่งรัฐบาลได้ออกนโยบายช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะนำเงิน 10,000 บาทไปช่วยเหลือคนเหล่านี้ เนื่องจากจะนำเงินไปใช้ทันทีมากกว่าเก็บ ขณะเดียวกันก็มีแผนจะแจกเงินอีก 10,000 บาทให้กับคนกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นการจัดลำดับความสำคัญ เพราะต้องการให้เงินเกิดการสะพัดในระบบเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นจุดเด่นของประเทศไทย คือที่ตั้งเนื่องจากอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยมีภาคการเกษตรที่เข้มแข็ง เวลาคุยก็จะพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งนักลงทุนจากต่างประเทศต่างพากันตื่นเต้น และขณะเดียวกันตนได้จัดทำนโยบายและจัดเตรียมคนที่ทำงานให้กับรัฐบาลรวมถึงข้าราชการก็มีความพร้อม ในการทำงานเชื่อมโยงกับประเทศอื่นจึงเป็นจังหวะที่ดีมากในการมาลงทุนในประเทศไทย
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บนเวทีการประชุมต่างๆ คำถามที่เจอบ่อยคือพ่อเป็นอย่างไรบ้าง ตนพยายามตอบในมุมธุรกิจ แต่คำถามแรกที่ทุกคนถามคือคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง และเดี๋ยวจะได้ยินเสียงคุณพ่อในเย็นวันนี้ ส่วนคำถามที่สองก็คืออาล่ะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะ จากห้องประชุม
นายกรัฐมนตรียังพูดถึงบทบาทของไทยและสหรัฐอเมริกา ว่า ตอนที่ตนได้พูดคุย กับตัวแทนของสหรัฐอเมริกาและจีน รวมไปถึงประเทศอื่นๆได้มีการนำเสนอตัวเองในฐานะว่าเป็นทูตของสันติภาพและความมั่งคั่ง นี่คือหลักการของประเทศไทย คือความสงบ สันติและความมั่งคั่ง แต่หากมองถึงประธานาธิบดีทรัมป์ มุมมองทางเศรษฐกิจนั้นเปลี่ยน ในภาพของการส่งออก ซึ่งเราจะต้องมีนโยบายที่สนับสนุน โดยพยายามทำให้คนไทยเข้าใจวิธีการ ซึ่งในวันของทรัมป์ไม่ได้เป็นปัญหากับเรา เนื่องจากเราส่งออกGDP 10% ไปยังสหรัฐอเมริกา และตนก็พร้อมจะเปิดตลาด พร้อมปรับนโยบาย ซึ่งตนก็ทราบดีว่าทุกคนมีความกังวล รัฐบาลมีการเตรียมตัว เป็นอย่างดี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมกับการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักธุรกิจในอนาคตทั้ง Data Center และ semi connector และต้องประกาศกับโลกว่า เราพร้อมแล้วตอนนี้เรานิ่งแล้ว สงบสุขแล้ว และเชื่อว่าทุกคนต้องการเห็นความก้าวหน้าในระยะยาว และในอีก 5 ปีข้างหน้า ก็จะหนีจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ โดยรัฐบาลมีการวางแผนไว้ 10 ปี ว่าเราต้องสร้างรากฐานก่อน ไม่ว่ารัฐบาลเปลี่ยน นายกเปลี่ยน อยากให้นโยบายจะต้องยึดมั่นกับประชาชนและประโยชน์เหล่านี้ จะต้องอยู่กับประชาชนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค 20 ปีที่แล้วปัจจุบันก็ยังมีนโยบายนี้อยู่ ตนไม่อยากให้ประโยชน์หมดไปอยู่ที่รัฐบาล หมดชุดหนึ่งก็จบไม่ได้ ตนอยากจะสร้างรากฐานเข้าไปให้รากยาว แบบนโยบายที่ได้สร้างขึ้น ก็อยากจะให้อยู่ยาวตลอดไป และตนมั่นใจว่าจะเห็นได้อย่างแน่นอน