POLITICS

‘วิโรจน์’ ยื่น ดีเอสไอ พิจารณาสอบข้อเท็จจริงกรณี ‘พ.ต.อ.วชิรา’ เสียชีวิต

‘วิโรจน์’ ยื่นหนังสือถึงดีเอสไอ พิจารณาสอบข้อเท็จจริงกรณี ‘พ.ต.อ.วชิรา’ เสียชีวิต เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ หรือไม่ รับคดีมีความซับซ้อน อาจเกี่ยวโยงปมส่วยรถบรรทุก

วันนี้ (21 พ.ย. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ขอให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไธสงค์ หรือ ‘ผู้กำกับเบิ้ม’ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หลังถูกพบว่าเสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่บ้านพักย่านคลองสอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

นายวิโรจน์ กล่าวว่า มีข้อสงสัยที่ปรากฏตามหน้าสื่อว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เนื่องจากก่อนเสียชีวิต พ.ต.อ.วชิรา ถูกพาไปพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านเมืองทองธานี ถูกยึดมือถือ และข้อมูลจากสำนักข่าวแจ้งว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกตำรวจหลายนายเฝ้าหน้าห้องพัก สาเหตุที่ทำให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจากกล้องวงจรปิดแสดงภาพ พ.ต.อ.วชิรา ใช้ทางหนีไฟเพื่อออกจากโรงแรมและขึ้นรถแท็กซี่ออกไป หากผู้ไม่ได้ถูกควบคุมตัว เหตุใดจึงไม่ออกจากโรงแรมตามช่องทางปกติ

เมื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มีเหตุอันควรต้องสงสัย 2 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง การที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 3 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้พาตัว พ.ต.อ.วชิรา ไปพักที่ห้องพักโรงแรมย่านเมืองทองธานี เมื่อคืนวันที่ 10 ก.ย. 2566 โดยเก็บโทรศัพท์ของ พ.ต.อ.วชิรา และไม่ได้แจ้งให้ญาติของ พ.ต.อ.วชิรา ทราบ พฤติการณ์เหล่านี้เข้าข่ายเป็นการถูกควบคุมตัวโดยปกปิดชะตากรรม ซึ่งเป็นความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

ประเด็นที่สอง จากการที่ พ.ต.อ.วชิรา ยิงตัวเองเสียชีวิตในเวลาต่อมา ตามผลการชันสูตรพลิกศพและผลการพิสูจน์หลักฐาน จึงมีเหตุต้องสงสัยว่า ก่อนหน้าที่ พ.ต.อ.วชิรา จะยิงตนเองเสียชีวิต พ.ต.อ.วชิรา ถูกกระทำด้วยประการใดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เข้าข่ายการกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 5 และ 6 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวหรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การเสียชีวิตของ พ.ต.อ.วชิรา มีความเกี่ยวโยงกับส่วยรถบรรทุก ซึ่งมูลค่าของการคอร์รัปชันสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี โยงไปยังข้าราชการระดับสูง และนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย จึงต้องยอมรับว่าเป็นคดีที่มีความซับซ้อน ทั้งหมดนี้เข้าข่ายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งตนหวังว่าดีเอสไอจะเร่งสอบสวนเพื่อความเป็นธรรม ให้คำตอบกับสังคมโดยเร็วที่สุด

Related Posts

Send this to a friend