เลขาฯ กฤษฎีกา เผย คลังยังไม่ส่งเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน มาให้ตีความ
เลขาฯ กฤษฎีกา เผย คลังยังไม่ส่งเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน มาให้ตีความ ย้ำเป็นนักกฎหมาย ไม่ใช่นักการเมือง บอกไม่ได้ว่าประเทศวิกฤตหรือไม่
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยระบุว่า ได้พบกับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกรณีที่รัฐบาลมีข้อสอบถามเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งจะมีหนังสือถึงกฤษฎีกาว่าสามารถทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และได้คำตอบจากรัฐมนตรีว่ากำลังดูอยู่นั้น
นายปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่มีมติให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่ โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย ย้ำว่าเป็นการถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามปกติโดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ และหากสามารถทำได้ก็จะเป็นการยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง
“ผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอเพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้” นายปกรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่าสภาพัฒน์ฯ บอกว่าถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นมาว่า ถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตนเอง และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณามีทั้งรัฐธรรมนูญเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา ซึ่งการจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งตนเองไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่
นายปกรณ์กล่าวภายหลังถูกถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะเดินหน้าโครงการได้ โดยระบุว่า ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ไม่ใช่หน้าที่ พร้อมย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤต ไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน
สำหรับกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติรักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่า รัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ โดยนายปกรณ์กล่าวว่า เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะคณะกรรมการยังไม่มีมติ