‘ทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง’ ชูกลไก 3 ประเทศเดินหน้าปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
‘ทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง’ เผยยอดคนไทยขอให้สถานทูตฯ ช่วยเหลือปีนี้เกือบ 400 คน ด้าน เมียนมาปฏิบัติต่อคนไทยในฐานะเหยื่อค้ามนุษย์ ยืนยัน กต. มีทางออก-รับผิดชอบพากลับ หวังประสานส่งตัวทีเดียวหมดในครั้งต่อไป ชูกลไก 3 ประเทศเดินหน้าปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
วันนี้ (21 พ.ย. 66) นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่กระทรวงการต่างประเทศ กรณีการช่วยเหลือคนไทยจากเมืองเล้าก์ก่าย รัฐฉาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า กลุ่มคนไทยที่เข้าไปทำงานในประเทศเมียนมานั้น เข้าไปอยู่ในพื้นที่ยากลำบากและเข้าถึงไม่ได้ การช่วยเหลือให้คนไทย 266 คน และชาวต่างชาติ ทั้งฟิลิปปินส์ 4 คน และสิงคโปร์ 1 คนออกมาด้วยเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 66 ได้นั้น จึงถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เนื่องจากมีการสู้รบรุนแรงระหว่างทหารเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 66 หากไม่ช่วยเหลือโดยเร็ว การออกมานั้นก็จะอาจประสบกับความยากลำบากมากขี้นและอาจเป็นไปไม่ได้เลย
กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลไทย ขอขอบคุณรัฐบาลจีน และรัฐบาลเมียนมา ในการอำนวยความสะดวกในการส่งคนไทยกลับ ส่วนคนไทยที่ยังคงอยู่นั้น นอกเมืองเล้าก์ก่าย ก็ยังมีในเมืองรุ่ยลี่ และเขตปกครองตนเองว้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในเขตปกครองตนเองว้า ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 – 30 คนนั้น สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง เพราะไม่มีการสู้รบ หากนายจ้างปล่อยตัวออกมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จะติดต่อกับทางการเมียนมา เพื่อประสานส่งตัวกลับออกมา
ทั้งนี้ นายมงคล ยืนยันว่า กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามหาลู่ทางให้กลับออกมาโดยเร็ว แต่ต้องดูความเป็นไปได้ในช่องทางที่ปลอดภัยด้วย สำหรับการผ่านเข้าช่องทางประเทศจีนนั้น จะต้องมีเอกสารประจำตัวที่ถูกต้อง หากใครมีหนังสือเดินทาง ก็สามารถเดินทางเข้าไปได้เลย ส่วนใครไม่มีหนังสือเดินทาง จะต้องอยู่รอส่งกลับชุดใหม่ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง จะต้องพิสูจน์สัญชาติ เพื่อออกเอกสารเดินทางให้ก่อน เช่น เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI)
“ส่วนกลุ่มที่นายจ้างยังไม่ปล่อยตัว เราพยายามหาทางให้ทางการเมียนมาช่วยดูแล ถ้าการส่งตัวครั้งต่อไป หากส่งได้ครั้งเดียวแล้วหมดเลย ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งหมายความว่าความกังวลของรัฐบาลไทยก็จะไม่มี แต่ถ้าอยู่ในที่ต่าง ๆ และยังทำงานต่อไปอย่างนี้ ก็จะทำให้การขนคนกลับไม่ครบถ้วน” เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าว
นายมงคล ยังตอบถึงกระแสการยึดครองพื้นที่ต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อคนไทยนั้นว่า ขึ้นอยู่กับว่ารับฟังข่าวสารจากฝ่ายใด เป็นข้อเท็จจริง หรือโฆษณาชวนเชื่อ การประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ ต้องประเมินจากข้อมูลหลายแห่ง อาจเป็นฝ่ายต่อต้าน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือจากข่าวกรองที่ประมวลออกมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะฝ่ายข่าวของไทยเท่านั้น แต่ยังมีคนชาติอื่นในเล้าก์ก่าย ที่ประสานงานข้อมูลข่าวสาร ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มในอนาคต เราพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะร่วมมือและติดตามฝ่ายเมียนมาว่า ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว และติดตามประเทศอื่นด้วยว่า อพยพออกเมื่อใด
นายมงคล ยังกล่าวถึงภาพรวมของคนไทยที่ถูกหลอกเข้าทำงานในเมียนมา และร้องขอความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ในปีนี้ว่า มีจำนวนประมาณ 300 – 400 คน ซึ่งการติดต่อขอความช่วยเหลือยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก หลังจากการรัฐประหารในเมียนมา และการกวาดล้างกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์และคาสิโนออนไลน์ในพื้นที่
“รัฐบาลเมียนมาปฏิบัติต่อคนต่างชาติที่ถูกล่อลวงมาทำงานในเมียนมาช่วงนี้ว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ จึงยินดีให้ความร่วมมือส่งกลับออกไป โดยทำงานร่วมมือกับสถานทูตของประเทศที่เกี่ยวข้อง ส่วนคนไทยที่กลับมาแล้ว มีกระบวนการคัดกรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือไม่ หากเป็นเหยื่อก็มีการเยียวยาโดย พม. หรือถ้าใครมีประวัติอาชญากรรมหรือมีหมายจับ ก็จะดำเนินการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าว
สำหรับการล่อลวงให้ไปทำงานน้้น นายมงคล กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง พยายามประชาสัมพันธ์ตลอดเวลาว่า ให้เพิ่มความระมัดระวังในการรับข้อความโฆษณาก่อนถูกหลอกลวงเข้าไปทำงานในเมียนมา บางคนโดนหลอกว่าให้ไปทำงานสบาย ขายของออนไลน์ หรือได้เงินเยอะ แต่กลับไม่ได้งานที่ถูกใจ หรือเข้าไปทำได้สักระยะแล้วไม่อยากทำ ก็เป็นภาระของรัฐบาลไทย และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเมียนมาเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งในภาวะปกติก็ไม่อาจออกมาได้เลย เพราะเมียนมาก็มีระเบียบและกฎหมาย เช่น การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงต้องได้รับโทษก่อน เช่น ถูกปรับ หรือจำคุก ก่อนกลับประเทศไทยด้วยซ้ำไป
กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมาย เพียงแต่มีหน้าที่ดูแลคุ้มครองคนไทย ไม่ว่าคนไทยคนใดตกทุกข์ได้ยากก็ตาม กรมการกงสุล จะเป็นแม่งาน ทำงานร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ในการเข้าช่วยเหลือดูแล หากมีความจำเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องออกก่อน ก็มีระเบียบรองรับ
“ไม่ใช่ว่าทางเราไม่มีทางออกให้เลย เรามีทางออกให้ และต้องรับผิดชอบในการนำตัวกลับประเทศ”
นอกจากนี้ ตามที่มีรายงานว่ารัฐบาลจีนอยู่ระหว่างการกวาดล้างขบวนการจีนเทาในประเทศเมียนมานั้น นายมงคล ยืนยันว่า ความร่วมมือของไทยในการปราบปราบอาชญากรรมข้ามชาติและขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมานั้น มีคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ภายใต้การนำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีไทย เมียนมา จีน และกำลังขยายไปถึงลาวด้วย ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเรียบร้อยที่สุด
นายมงคล ชี้แจงต่อไปถึงความร่วมมือผ่านคณะทำงาน 3 ฝ่ายนี้ว่า ทำให้ช่วยเหลือเหยื่อโดยเฉพาะในพื้นที่เมืองชเวก๊กโก จังหวัดเมียวดี มีการตัดไฟฟ้า และสัญญาณอินเทอร์เน็ต และต่อมามีการขยายไปถึงจังหวัดท่าขี้เหล็กด้วย ส่วนกรณีเมืองเล้าก์ก่ายนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ต้น โดยประสานงานกับทางการเมียนมาในครั้งนี้