‘โตโต้’ ถาม “รัฐธรรมนูญปราบโกงหรือปราบใคร” กรณีศาลฯ ตัดสิทธิ์ ‘ช่อ’
‘โตโต้’ ถาม “รัฐธรรมนูญปราบโกงหรือปราบใคร” กรณีศาลฯ ตัดสิทธิ์ ‘ช่อ-พรรณิการ์’ มองเรื่องจริยธรรมให้องค์กรวางมาตรฐานตรวจสอบภายในได้ – มองไม่ควรจะมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง
วันนี้ (21 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล พร้อม สส.พรรคก้าวไกลแถลงข่าวกรณีศาลฎีกาพิพากษานางสาวพรรณิการ์ วาณิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต ว่า จากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ตนเองและเพื่อนผู้แทนราษฎรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงมาแถลงต่อสื่อมวลชนและพี่น้องประชาชน ในฐานะผู้แทนราษฎรที่เคยอภิปรายเรื่องหลักยุติธรรม รวมถึงโครงสร้างประเทศที่ใช้นิติสงครามเข้ามาดำเนินการกับนักการเมือง
“คำถามคือ ปราบโกงหรือปราบใคร นี่คือสิ่งที่ผมถามในวันนี้ เพราะแต่เนื้อแท้แล้วเราพบว่ามันคือปัญหาที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่ได้สร้างกลไกใหม่ไว้จัดการนักการเมือง นั่นคือมาตรฐานทางจริยธรรมโดยกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำหน้าที่ไต่สวนกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะสูงส่งแค่ไหนเราไม่ทราบ ส่งผลให้ สส. สว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ด้วย และมีสิทธิ์ที่จะไปออกมาตรฐานขององค์กรของตนเองขึ้นมา” นายปิยรัฐ กล่าว
นายปิยรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาจึงเกิดขึ้นเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทใดๆ ก็ตาม เรื่องจริยธรรมในตัวบทกฎหมายแล้ว ไม่ได้จบเพียงแค่องค์กรนั้น หรือคณะนั้นที่จะดำเนินการเอาผิดทางวินัยทางจริยธรรมภายในองค์กรของตนเอง แต่กลับให้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระใช้ในการวินิจฉัยส่งเรื่องต่อ หรือดำเนินการวินิจฉัยเอาผิดกับนักการเมืองเหล่านั้นได้ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามาก มีทั้งปัญหาในเรื่องความไม่ได้สัดส่วนของความผิด การลงโทษ รวมถึงการลงโทษซ้ำซ้อน พูดง่ายๆ ว่ามีโทษทางการเมืองไปแล้ว แต่ก็ยังมีโทษตัดสิทธิ์ย้อนหลังไปอีก
ปัญหาอยู่ที่เราใช้มาตรฐานจริยธรรมองค์กรอิสระมาใช้กับนักการเมืองซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต่อไปนี้เราจะต้องตั้งคำถามกับองค์กรอิสระด้วยว่าในอดีตนั้นเคยผิดจริยธรรมหรือไม่ ดังนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างแท้จริง
“เพราะความผิดของคุณพรรณิการ์ ถ้าเราดูดีๆ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่เขาจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้นมาก ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เพราะไม่ได้ปราบโกงจริงๆ แต่กลับเปิดโอกาสให้มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลั่นแกล้งทางการเมือง รวมถึงการใช้ให้เป็นเครื่องมือในการปราบนักการเมือง ที่เขาเรียกว่านักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน นักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น สยบยอมอยู่ภายใต้กฎหมายนี้” นายปิยรัฐ กล่าว
ขณะที่นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี กล่าวว่า ขอชี้แจงในฐานะส่วนตัว ตนเองถือว่านางสาวพรรณิการ์ เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ อยากชวนให้ช่วยกันคิดว่ามาตรฐานจริยธรรม สส. มันย้อนกลับไปก่อนที่เขามาเป็น สส. หรือไม่ พฤติกรรมตั้งแต่สมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษาสามารถนำมาใช้ในขณะที่เขาเป็น สส. ได้หรือไม่ นอกจากนี้การกระทำที่เขาพ้น สส.ไปแล้ว ความผิดเรานั้นยังตามผิดตรงตัวเขาไปอยู่ด้วย เรื่องนี้จะยึดโยงไปถึงอนาคตและอดีตหรือไม่ หากกฎหมายฉบับนี้ย้อนไปถึงตัวพวกท่านเองแน่ใจหรือไม่ว่ายุติธรรมเพียงพอ
ด้าน นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. ระบุว่า หลักการกฎหมายไม่ควรจะมีกฎหมายลงโทษย้อนหลัง ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการไม่ได้สัดส่วนของการลงโทษและการกระทำความผิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อดูโทษที่ได้รับเรียกได้ว่าการตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเราเทียบกฎหมายอาญา โทษเทียบเท่าการประหารชีวิต เป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ นายปิยบุตร ออกมาโพสต์ว่าพรรคก้าวไกล ไร้น้ำใจ ไม่แสดงท่าทีต่อกรณีคำพิพากษาของ น.ส.พรรณิการ์ และออกมาแสดงความเห็นช้าเพราะเหตุใดนั้น นายปิยรัฐ กล่าวว่า กรณีที่นายปิยะบุตรมีความเห็นนั้นเป็นคุณูปการในการตั้งคำถามกับพรรคการเมือง ต้องเรียนว่าในนามของพรรคได้มีการแถลงข่าวไปแล้วในทางสาธารณะ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของพรรคเมื่อเช้านี้
ส่วนการแถลงนี้ไม่ได้แถลงในนามพรรค เพราะเราไม่ต้องการมองว่านี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อยากให้เป็นเรื่องของประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม และเป็นหน้าที่ของ สส.ทุกคนควรตั้งคำถาม เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของนักการเมืองทุกคน รวมถึงการวางบรรทัดฐานของรัฐธรรมนูญด้วย
นายปิยรัฐ ยอมรับว่าพรรคก้าวไกลได้มีการปรึกษาหารือกันเป็นการภายใน แต่ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นได้ในทันทีเมื่อวานนี้ เนื่องจากมีการประชุมสภา วันนี้จึงเป็นการเริ่มต้นพูดถึงเรื่องนี้ ส่วนได้คุยกับ น.ส.พรรณิการ์หรือยัง นายปิยรัฐบอกว่า ส่วนตัวของตนยังไม่ได้คุย และเชื่อว่าพรรคก้าวไกลได้มีการพูดคุยแล้ว
เมื่อถามว่าในบทบาทของนิติบัญญัติ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตามที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล ได้นำเสนอให้มีการแก้ไขหรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ส่วนความเห็นหากมองว่าการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ในลักษณะนี้มีความรุนแรงมากไป มีความเห็นว่าควรให้อำนาจใครในการตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมือง นายปิยรัฐ กล่าวว่า ความจริงแล้วการกระทำผิดวินัยหรือจริยธรรมมีกฎหมายอื่น ใช้บังคับอยู่รวมถึงองค์กรต่างๆก็จะมีกลไกภายในของตัวเองที่ใช้บังคับ เช่น กรณี สว.ที่มีการตรวจสอบจริยธรรมกันเอง ซึ่งตนเองมองว่าศาลไม่ควรจะเป็นผู้มาชี้ผิดชี้ถูก เพราะมาตรฐานทางจริยธรรมไม่ใช่เรื่องผิดถูกที่จะสามารถใช้อำนาจทางกฎหมายหรือศาลมาตัดสินชี้ถูกชี้ผิด เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องผิดถูกหากให้มีการวินิจฉัยกันเองภายในว่า ผิด หรือ ไม่ผิด จริยธรรม แต่เมื่อไหร่ที่ตั้งข้อสงสัยมันมีกฎหมายรองรับอยู่ เช่นการวินิจฉัยว่าผิดวินัยร้ายแรงแล้วความผิดนั้นไม่เป็นข้อเท็จจริงผู้ที่ถูกฟ้องก็สามารถไปร้องศาลปกครองเพื่อให้วินิจฉัยในขั้นตอนการไต่สวนหรือสืบสวนวินัยร้ายแรง ว่า ลงโทษผิดตามกฎหมายหรือหน้าที่หรือไม่
“ผมเชื่อว่าองค์กรทุกองค์กร มีหน่วยงานที่มาชี้ผิดชี้ถูกในเรื่องจริยธรรมเพื่อเป็นมาตรฐานในองค์กรตัวเองอยู่แล้ว แต่เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องที่จะเข้ามาชี้ผิดชี้ถูกโดยใช้กฎหมายเป็นมาตรวัดได้” นายปิยรัฐ กล่าว
ส่วนมองว่าเป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ นายปิยรัฐมองว่าไม่ใช่การเขียนเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล หรือคดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่คำถามสำคัญก็คือ กรณีทั่วไปที่ศาลเคยตัดสินโทษไปแล้ว ศาลฎีกาจะกลับมาเอาโทษนักการเมืองคนนั้นในภายหลังได้อีกหรือไม่
“ผมว่าไม่ใช่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่นักการเมืองทุกคน ต้องสำนึกว่ากฎหมายอยู่ในมือใคร และจะใช้กฎหมายกับใคร” นายปิยรัฐ กล่าว