POLITICS

กมธ.ที่ดินฯ รับฟังปัญหาสร้างเขื่อนปากแบง หวั่นกระทบร่องน้ำลึกเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว

กมธ.ที่ดินฯ รับฟังปัญหาสร้างเขื่อนปากแบง จ่อเชิญหน่วยงานรัฐเข้าให้ข้อมูลเรื่องแผนพลังงาน-ผลกระทบข้ามพรมแดน 9 ต.ค.นี้ หวั่นกระทบร่องน้ำลึกเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว

วันนี้ (21 ก.ย.67) คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น จากการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบง ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

นายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอำเภอเชียงของ ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดอุทกภัยภายใต้ 3 เงื่อนไข ได้แก่ น้ำโขง น้ำอิง และน้ำฟ้า (น้ำฝน) อำเภอเชียงของประสบกับภัยน้ำท่วม 3 ระลอก วันที่ 3, 13 และ 21 สิงหาคม 2567 อีกทั้งได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางใน 7 ตำบล 94 หมู่บ้าน พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 1.8 หมื่นไร่ ที่พักอาศัยที่ติดริมน้ำโขง น้ำอิง และลำน้ำสาขาเสียหายกว่าร้อยหลังคาเรือน

ส่วนกรณีการก่อสร้างเขื่อนปากแบง ชาวเชียงของน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะปลายน้ำที่ยังไม่มีเขื่อน มีเพียงเขื่อนจิ่งหงของจีน แต่ไทยที่อยู่นอกพื้นที่การบริหารจัดการกลับทำได้เพียงรับชะตากรรม นายอำเภอเชียงของ ยอมรับว่าในภาคราชการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเขื่อนปากแบงน้อยมาก แต่จะสร้างหรือไม่สร้าง เราจะต้องมีวิธีการป้องกันและเฝ้าระวัง

ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และเจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize 2022 กล่าวว่าเขื่อนปากแบง เป็นเขื่อนที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนท้องถิ่นในอำเภอเวียงแก่น เชียงของ และเชียงแสน ห่างจากชายแดนไทย-ลาว 97 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าว และเมื่อสันเขื่อนยกระดับขึ้น น้ำก็จะเท้อกลับมายังประเทศไทย

ครูตี๋ สะท้อนปัญหาน้ำเท้อที่อาจส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาในไทย โดยเฉพาะแม่น้ำงาวและแม่น้ำอิง ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำโขง ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจิ่งหงของจีน และหากมีการก่อสร้างเขื่อนปากแบงอีก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายจะเป็นเหมือนอ่าง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การอพยพของปลา และการสูญเสียพื้นที่การเกษตรตลอดไป ดังนั้นจึงต้องมีการบูรณาการน้ำร่วมกัน

สิ่งที่ชาวบ้านอยากเห็นคือ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนให้ครบทุกมิติ เราอยากเห็นกระบวนการที่โปร่งใสยันต้นน้ำยันปลายน้ำ จึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯ ช่วยศึกษาทบทวนปัญหาโครงการเขื่อนปากแบง โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนไทย-ลาว กระบวนการเซ็นสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า และกระบวนการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน

นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยภายหลังว่า การสร้างเขื่อนปากแบงเป็นเรื่องอ่อนไหว ภาวะน้ำเท้อจะมีผลกระทบทางด้านเกษตรกรรมและเขตแดนของประเทศไทย ที่โดยปกติจะใช้ร่องน้ำลึกในการเบ่งเขตแดนระหว่างไทย-ลาว แต่เมื่อมีการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึก ตลิ่งฝั่งไทยพังทลาย จะทำให้เราสูญเสียเขตแดนไป

ส่วนกระบวนการประเมินผลกระทบในทุกมิติ ข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลเก่ายังไม่ครอบคลุม เช่น ปริมาณน้ำท่าที่ต้องประเมินในคาบ 50-100 ปี เพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งนี้ในวันที่ 9 ต.ค.67 จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพลังงาน มาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยจะมีการพูดคุยเรื่องแผนพลังงาน ความจำเป็นในการสร้างเขื่อนปากแบงทั้งที่ไทยมีพลังงานสำรองในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงแบบจำลองน้ำ กรณีเกิดภาวะน้ำเท้อ ซึ่งจะเชิญคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถนำเสนอรายงานสรุปปัญหาเขื่อนปากแบงต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลต่อไป

นายพูนศักดิ์ กล่าวต่อว่าเขื่อนปากแบงมีหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ ทั้งเรื่องพลังงาน ความมั่นคง และการเกษตร รวมถึงกระบวนการอนุมัติ-อนุญาตที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ทราบข้อมูลที่มีความจำเป็นกับการดำรงชีวิต ขณะที่กฎหมายไทยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน จึงต้องมีการพูดคุยกันในระดับชาติ เพราะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไม่สามารถกำหนดกรอบเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งได้ โดยอาจหยิบยกเอาโมเดลในสหภาพยุโรปมาปรับใช้ เพื่อจัดการกับผลกระทบข้ามพรมแดนให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว

Related Posts

Send this to a friend