POLITICS

‘พิธา’ ชี้ ปลดล็อคการเมือง เพื่อปลดล็อคศักยภาพทางเศรษฐกิจ แนะปลดล็อกทุนผูกขาด เปลี่ยนรัฐบาลทหาร อยู่ใต้พลเรือน

วันนี้ (21 ก.ย. 64) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองเเละเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมไปถึงแนวทางเเละทางออกต่อวิกฤติที่เกิดขึ้นว่า เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตนมีโอกาสได้ร่วมเสวนาในงาน Thailand Investment Conference ที่จัดขึ้นโดย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) โดยได้พูดคุยกับกลุ่มนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนประมาณ 200 ท่าน ถึงสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยวันนั้นตนได้อธิบายฉากทัศน์ความเป็นไปได้ของการเมืองไทยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“สิ่งที่ผมพูดในวันนั้น เหตุการณ์หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจผลที่น้อยที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือการปรับคณะรัฐมนตรี เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบางตำแหน่ง อันนี้คือฉากทัศน์ความเป็นไปได้ที่ 1 ที่จะเกิดขึ้นได้ วันนี้ก็เห็นแล้วว่าครึ่งเดือนที่ผ่านมา มีการปรับรัฐมนตรีบางคนออกจากตำแหน่งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เลือกที่จะกระชับอำนาจของตัวเองแต่ก็แลกมาด้วยเสถียรภาพและความขัดแย้งภายในของพรรครัฐบาลเอง” นายพิธากล่าว

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า ฉากทัศน์ที่ 2 คือการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี และฉากทัศน์ที่ 3 เป็นสถานการณ์ที่ดีที่สุดในทางการเมืองและเป็นผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนคือการยุบสภา คืนอำนาจกลับไปให้พี่น้องประชาชนในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกระบวนการตรงไปตรงมาตามระบบ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากนี้ ภาพที่ยาวกว่านั้นของการเมืองไทยคือประเทศไทยยังเผชิญกับความปรกติใหม่ในฉันทามติเก่า (New Normal in an Old Consensus) คือเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านหลายๆ อย่างตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านของรัชสมัย จนกระทั่งการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ แล้วก็การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนกับว่ามีคนสองกลุ่มที่มีวิสัยทัศน์ที่ต่างกัน กลุ่มหนึ่งก็อยากจะกอดอดีตเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และก็ไม่อยากที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะพาประเทศไทยไปยังอนาคตและเป็นอนาคตที่มันดีขึ้น

“โจทย์ของประเทศเราคือจะทำอย่างไรในเมื่อยังไม่เกิดฉันทามติที่บอกว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ของทุกชุดความคิด ทุกความรู้สึกของยุคสมัยของคนแต่ละกลุ่ม

นายพิธา ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่พรรคการเมืองและระบบการเมืองควรที่จะทำให้ได้คือการหาพื้นที่ปลอดภัยในการที่จะพูดคุยกันเพื่อที่จะให้เกิดฉันทามติร่วมกัน ดังนั้นปีที่แล้วสิ่งพรรคก้าวไกลพยายามที่จะผลักดันคือการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ปลดล็อคเวลาและการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้และทำให้พื้นที่ปลอดภัยนี้ไม่ผูกขาดโดยชุดความคิดทางการเมืองชุดใดชุดหนึ่ง อีกทั้งสิ่งที่เราผลักดันและเรียกร้องคือทำให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะกันทุกๆ เรื่องในรัฐสภา หรืออีกนัยหนึ่งคือการพูดคุยกันได้ภายในการเมืองภายในระบบ

ในประเด็นทางเศรษฐกิจที่ตนได้พูดไว้ในวันนั้นคือ โจทย์และทิศทางในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ตนได้เสนอว่าพรรคก้าวไกล เราเห็นตรงกันกับรายงานของเกียรตินาคินภัทรที่ได้เสนอว่า ถ้าหากประเทศไทยจะพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีได้ จะต้องมีการพัฒนาโครงการพื้นฐานใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต (Endowment) 2. การเข้าถึงตลาดและเพิ่มขนาดของตลาด (Market Size) 3. โครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ทันสมัย (Infrastructure) และ 4. สถาบันเศรษฐกิจที่มีคุณภาพ (Institutions)

“ผมจำได้ว่าทั้ง 4 ข้อนี้ เป็น 4 ข้อที่เราพูดถึงกันมาตั้งแต่เมื่อผมฝึกงานที่ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และก็เป็น 4 ข้อที่พูดถึงกันตอนที่ผมทำงานให้กับรัฐบาลในช่วงปี 2547-2548 แต่มาจนถึงวันนี้ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง จนวันนี้ประเทศเกิดวิกฤติโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าจะกลับไปเติบโตได้เท่าก่อนโควิดต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึง 6 ปี เพราะเศรษฐกิจของเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก และระดับเทคโนโลยีต่ำ ถ้าหากทั้ง 4 ข้อนี้ไม่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในช่วงเร็วๆ นี้ ภายในหนึ่งปีหรือสองปีนี้ ผมได้ตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะยังมีที่ยืนในเวทีโลกเหลืออยู่อีกหรือไม่ กว่าประเทศไทยจะฟื้นกลับไปเหมือนก่อนโควิด ประเทศคู่แข่งของไทยคงจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าเรามากแล้ว และในวันที่เราฟื้นฟูกลับไปถึงจุดเดิมก่อนโควิด การฟื้นฟูของเราจะเป็นการฟื้นฟูในรูปตัว K ที่มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม”

ผมคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ มันไม่ใช่ว่า What to do หรือจะทำอะไรเพราะพูดกันมาหลายปีแล้ว แต่คือ How to do คือทำอย่างไรมากกว่า คือต่อให้ประเทศไทยต้องการจะสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมาเป็น Unicorn แต่ประเทศมีเสือนอนกินหรือกลุ่มทุนผูกขาดที่ยังได้ประโยชน์อยู่จากการไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย และมีรัฐราชการรวมศูนย์ที่เหมือนเป็นช้างตัวใหญ่ที่อุ้ยอ้าย ล่าช้า กดทับและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอยู่ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในทางเทคนิคจึงไม่สามารถแยกขาดจากการแก้ไขปัญหาทางการเมือง

แนวคิดที่ว่าการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นแยกไม่ขาดจากการเมือง ก็เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้วเช่นเดียวกันตั้งแต่เมื่อผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ Michael Porter นักบริหารและนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์โดยเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีในเรื่องกลยุทธ์การแข่งขัน เขาเป็นที่ปรึกษาของผมตอนเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาบอกกับผมว่าประเทศของคุณมีจุดแข็งพร้อมอยู่แล้วแต่มันคือเรื่องเกี่ยวกับการเมือง กฎระเบียบและระบบราชการต่างๆ จะแก้ไขได้ต้องมีทั้งวิธีการเชิง Technical เชิง Political และเชิง Bureaucratic ที่ต้องแก้ไข

ทั้งแนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในทางเทคนิคและการปลดล็อคศักยภาพของประเทศทางเทคนิคได้ต้องปลดล็อคทางการเมืองก่อนเป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมาอย่างยาวนานแล้วทั้งนั้น แต่ทั้งสองเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพรรคการเมืองที่มีเจตจำนงทางการเมืองที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงหรือ “Make it happen” ซึ่งการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงก็ต้องอาศัยการเมืองใหม่ที่ไม่ได้ยึดโยงจากโครงสร้างอำนาจแบบเดิมๆ

“เราต้องทลายทุนผูกขาด (Demonopolize) กระจายอำนาจ (Decentralize) และเอาทหารออกไปจากการเมืองให้อยู่ใต้พลเรือน (Demilitarize) ให้ได้ และผมเชื่อว่ามีประชาชนจำนวนมากที่พร้อมจะร่วมไปกับผม โดยเชื่อว่าประเทศไทยยังดีกว่านี้ได้อีกมากครับ” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว

ที่มา https://www.facebook.com/1709974189109218/posts/3947529842020297/

Related Posts

Send this to a friend