POLITICS

ผู้ตรวจราชการ ก.แรงงาน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว จ.อุทัยธานี

นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุทัยธานี เพื่อติดตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอุทัยธานี พร้อมรับฟังปัญหา/ อุปสรรคในการดำเนินการตรวจคัดกรองเบื้องต้นการบังคับใช้แรงงาน หรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในแรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน การตรวจคัดกรอง (SOP) ให้เป็นไปตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ โดยได้กำชับให้ส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุทัยธานี บูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบการในการดูแลคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทย เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล การทำประกันสังคม เป็นต้น เพื่อให้ลูกจ้างได้รับสวัสดิการจากสถานประกอบการ อย่างเป็นธรรม และเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดิมอีกด้วย โดยมี นางสาววารุณี ลังกาพินธ์ แรงงานจังหวัดอุทัยธานี และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุทัยธานี เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสำนักงานประกันสังคมจังหวัดอุทัยธานีวานนีิ (20 เม.ย. 66)

โอกาสเดียวกันนี้ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน นำคณะหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายชูชาติ จับเทียน ปลัดอำเภอเมืองอุทัยธานี ผู้แทนฝ่ายปกครอง ร.ต.อ.ฐิติพัฒน์ เผ่าน้อย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ร.อ.ประลองยุทธ์ พันธ์เขียน กอ.รมน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 2 แห่ง แห่งแรกที่บริษัท พรพิบูลย์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 14/8 หมู่ที่ 2 ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการประเภทผลิตและจำหน่ายน้ำแข็ง ที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานไทย 50 คน แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 18 คน ลาว 2 คน และแห่งที่ 2 บริเวณไซต์งานก่อสร้าง ณ วัดท่าซุง ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 1 ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี โดยมี นายปวิช จะเชยรัมย์ รับเหมาก่อสร้างโรงเรียนพระสุธรรม มีแรงงานไทย 10 คน แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 17 คน

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในครั้งนี้ กระทรวงแรงงาน มุ่งมั่นส่งเสริม ป้องกัน มิให้นายจ้าง/สถานประกอบกิจการเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าวในสถานประกอบกิจการของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้การจัดลำดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจาก Tier 2 ไปสู่ Tier 1 ตามความมุ่งหวังของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

Related Posts

Send this to a friend