POLITICS

‘พริษฐ์’ ถามหารายงานศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้งบฯ คุ้มค่าหรือไม่

‘พริษฐ์’ เผย สภาฯ ยังไม่ควรอนุมัติงบประมาณฯ ถามหารายงานการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ที่ไหน ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่

วันนี้ (20 มี.ค. 67) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระ 2 และ 3 มาตรา 7 เกี่ยวเกี่ยวกับงบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรี

นายพริษฐ์ กล่าวว่างบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีถูกตั้งไว้อยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท และถูกกระจายไป 28 หน่วยรับงบประมาณ ซึ่งมีงบประมาณหลายส่วนที่เห็นว่าควรจะมีการปรับลด และเห็นควรว่าในหลายหน่วยงานควรถูกยุบหรือควบรวม โดยอยากจะเจาะจงไปที่งบประมาณที่รัฐบาลได้ตั้งงบไว้ 2.06 ล้านบาท ที่ถูกตั้งโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการ และพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

หากย้อนกลับไปในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 รัฐบาลเองก็ไม่ได้ออกมติที่จะเดินหน้าในการจัดทำประชามติ กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที ตามที่ได้แถลงไว้ตอนจัดตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแทน เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติเสียก่อน แล้วหลังจากทำงานมาประมาณ 2-3 เดือน จนเดินทางมาถึง 25 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการชุดนี้ก็ได้มีการแถลงข่าวสิ้นสุดภารกิจของตนเองไปพร้อมกับข้อเสนอต่อ ครม. เกี่ยวกับคำถามประชามติซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคำถามที่มัดมือชกและเป็นข้อคัดค้านมาจนถึงปัจจุบันนี้ จน ครม. ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเดินตามข้อเสนอของคณะกรรมการดังกล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่าในเมื่อคณะกรรมการได้ทำงานเสร็จแล้วเราก็พอจะอนุมานได้ แต่ความจริงก็อยากให้ทางคณะกรรมาธิการยืนยันว่าค่าใช้จ่าย จำนวนกว่า 2 ล้านบาทนั้น น่าจะถูกใช้จ่ายไปจากส่วนอื่นแล้ว โดยมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อพยามไปโปะย้อนหลัง ซึ่งเป็นการกระทำเชิงเทคนิคในการจัดสรรงบประมาณ แต่ ณ เวลานี้เห็นควรว่าสภาฯ ยังไม่ควรที่จะอนุมัติงบประมาณสักบาทให้กับรายการดังกล่าว ที่จำเป็นต้องพูดแบบนี้ไม่ใช่เพียงเพราะว่าตนเองไม่เห็นถึงความจำเป็นในการมีคณะกรรมการศึกษานี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น และไม่ใช่ว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับผลลัพธ์ของข้อเสนอ เกี่ยวกับคำถามประชามติที่คณะกรรมการชุดนี้เคาะกันออกมา แต่ที่จำเป็นต้องพูดแบบนี้เพราะตนเองเคารพและยอมรับว่ารัฐบาลนั้นมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจตั้งคณะกรรมาธิการนี้ขึ้นมา แต่สิ่งที่อยากจะตั้งคำถามคือเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว เพราะหากย้อนกลับไปดูเอกสารที่มีการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณฯ เราจะเห็นได้ชัดว่าผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่ามีรายงานการศึกษาแนวทางในการทำประชามติซึ่งเราก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าในรายงานนั้นจะต้องมีรายละเอียดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมกันแล้วกี่ครั้ง มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นกี่เวที มีที่มาที่ไป รวมถึงข้อถกเถียงก่อนที่จะได้รับข้อสรุปที่คณะกรรมการแถลงออกมาเป็นอย่างไรบ้าง

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ทำให้ตั้งคำถามต่อมาว่าหลังจากที่ผ่านมา 86 วัน หลังจากที่คณะกรรมการศึกษาชุดนี้ได้แถลงสิ้นสุดภารกิจและรายงานการศึกษาฉบับนี้อยู่ที่ไหน สำคัญกว่านั้นคือประชาชนทั่วไปสามารถหาอ่านรายงานการศึกษานี้ได้จากที่ไหนบ้าง ซึ่งการที่รัฐบาลและคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ไม่เผยแพร่รายงานฉบับนี้ออกมาเป็นเรื่องที่มีข้อสังเกตและข้อกังวลอยู่ 3 ประการ ดังนี้

ประการที่ 1 คือ การที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายที่มีความสำคัญในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เลือกที่จะยังไม่เผยแพร่รายงานดังกล่าวนั้น เกรงว่าเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งสำหรับรัฐบาลที่ประกาศว่าต้องการจะเป็นรัฐบาลที่เปิดเผย (Open Government) และสำหรับหน่วยงานที่ตั้งงบประมาณนี้ขึ้นมาอย่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

ประการที่ 2 คือ การเรียกร้องให้คณะกรรมการศึกษาชุดนี้เผยแพร่รายงานการทำงานของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคณะกรรมการเคยมายืนยันกับสภาฯ เองในการประชุมกับคณะกรรมาธิการ พัฒนาการเมือง ผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 มีการยืนยันว่าจะมีการเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นที่คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการไป ซึ่งการไม่เผยแพร่รายงานสวนทางกับสิ่งที่ตัวแทนคณะกรรมการมายืนยันกับสภาฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้

ประการที่ 3 คือ การที่รัฐบาลไม่เผยแพร่รายงานของคณะกรรมการชุดนี้ ทำให้เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคนของรัฐบาลพูดอะไรไม่ตรงกัน ทำให้ไม่สามารถรู้ว่าใครพูดจริงใครพูดไม่จริงกันแน่

ต่อมาขณะที่ นายพริษฐ์ กำลังเปิดคลิปที่เป็นส่วนหนึ่งในการอภิปราย นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส. จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง ถึงการนำคลิปบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือเคลื่อนไหวมาแสดงภายในสภาฯ นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในข้อที่ 69 ที่ระบุไว้ว่าห้ามไม่ให้นำเอกสารใดๆ แสดงโดยไม่จำเป็น

ด้านนายพริษฐ์ จึงแจงต่อประธานสภาฯ ว่า คลิปดังกล่าวเป็นคลิปเสวนาซึ่งมีการเผยแพร่บนสื่อสาธารณะอยู่ ดังนั้นไม่ได้เป็นคลิปที่เผยแพร่ต่อประชนไม่ได้ นายพริษฐ์ กล่าวว่า มีความเข้าใจดีในการกล่าวถึงบุคคลภายนอกอยู่บ้าง พร้อมบอกว่านาย นิกร จำนง ผู้ที่ปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าว ก็เป็นประธานของคณะอนุกรรมการที่ถูกต้องโดยคณะกรรมการศึกษาที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นบุคคลที่ให้ความร่วมมือต่อ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ การนำคลิปมาเปิดในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้นายนิกร เกิดความเสียหาย เพราะเป็นคำพูดที่พูดต่อสาธารณะ และไม่ได้เป็นการวิจารณ์ในรายบุคคล

ต่อมา ประธานสภาฯ ได้วินิจฉัย ประเด็นที่นายไชยวัฒนา ท้วงติงโดยเห็นว่า หากเป็นเพียงการนำเสนอข้อเท็จจริงในการปฎิบัติหน้าที่ โดยไม่ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดหรือเสียหาย ก็ขอให้อภิปรายต่อในประเด็น แต่ขอให้เชื่อมโยงในเรื่องงบประมาณมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนเป็นการอภิปรายการทำประชามติในเชิงนโยบายมากกว่า

นายพริษฐ์ จึงขอใช้สิทธิ์พาดพิงโดยกล่าวว่า หากจะบอกว่าไม่เชื่อมโยงกับการอภิปรายงบประมาณ ที่ผ่านมา ตนเองพยายามจะฉายให้เห็น การตั้งงบประมาณกว่า 2 ล้านบาท เพื่อเป็นการสนับสนุนคณะกรรมการศึกษาชุดนี้ ซึ่งในเอกสารที่ชี้แจงต่อ กมธ.งบประมาณฯ ได้เขียนว่าผลลัพธ์ที่คาดหวังคือรายงานผลการศึกษา จึงตั้งคำถามว่าเมื่อคณะกรรมการศึกษาชุดนนี้ทำงานเสร็จแล้ว แต่ไม่มีรายงานผลการศึกษาเผยแพร่ออกมา เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าบรรลุตามเป้าหมายที่ได้ชี้แจงต่อ กมธ.งบประมาณฯ ดังนั้นเรื่องนี้เป็นการตรวจสอบ ว่ามีการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนในการอภิปรายงบประมาณ

พร้อมย้ำถึงเหตุผลที่แชร์วิดีโอดังกล่าว ว่า ไม่ได้เป็นการพาดพิงหรือวิจารณ์ใครรายบุคคล แต่เพียงเพื่อแสดงให้เห็น ว่าเมื่อไม่มีรายงานที่เป็นทางการออกมา ทำให้บางครั้งในข้อมูลชุดเดียวกัน คณะกรรมการแต่ละคนก็มีการตอบออกมาไม่เหมือนกัน หากไม่มีรายงานออกมายืนยัน เราไม่อาจทราบได้ว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง หรือมีเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

Related Posts

Send this to a friend