POLITICS

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปั้น บรรทัดทอง-สามย่าน เป็นสวรรค์ Thai Street Food

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ปลุกพลัง Soft power ปั้น บรรทัดทอง-สามย่าน เป็นสวรรค์ Thai Street Food รวมความโดน-เด่น-ดังของร้านอาหารหลากหลาย เน้นสุขอนามัย คุณภาพและความอร่อย แถมอยู่ใจกลางเมือง เดินทางสะดวก เชื่อดึงดูดผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งชาวไทย และต่างชาติ

รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวว่า“ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้”

ก่อนหน้านี้อาหารริมทางเป็นอาหาร ที่หลายคนมองว่าไม่ถูกสุขอนามัย รับประทานเข้าไปอาจเสี่ยงท้องร่วงได้ รถเข็นและแผงลอยที่ตั้งระเกะระกะริมฟุตบาท ก็กีดขวางการสัญจรของผู้คน แถมยังสร้างความสกปรก และทำลายทัศนียภาพของเมืองด้วย ภาพจำเช่นนั้นเป็นอดีตไปแล้ว! ปัจจุบัน อาหารริมทางหรือ Street Food ของไทยกำลังได้รับความนิยมในระดับสากล จัดเป็นหนึ่งใน soft power ที่สร้างมูลค่าการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติให้มาเปิดประสบการณ์ และลิ้มลองอาหารเลิศรสและหลากหลาย จนกรุงเทพได้ชื่อว่าเป็น “มหานครแห่ง Street Food” หรือ “เมืองหลวงแห่งร้านอาหารริมทาง“

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครมีย่านธุรกิจอาหารริมทางมากมาย ซึ่งหนึ่งในย่านที่กำลังมาแรง และได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ คือ จุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน

“นอกจากนักชิมจะได้ลิ้มรสความอร่อย ที่หลากหลายและถูกหลักอนามัยแล้ว ยังจะได้สัมผัสบรรยากาศ Thai Street Food แบบใหม่ ที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี ร้านอาหารเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางสัญจร ปลอดภัย ลูกค้าเดินทางมาง่ายและมีจุดจอดรถสะดวก” รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าว

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การตั้งร้านของหาบเร่แผงลอยริมถนน อาจทำลายทัศนียภาพของเมืองไปบ้าง แต่ก็ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างลงตัว ประการแรกอาหารริมทางตอบโจทย์ความหลากหลายของอาหาร การตั้งร้านหรือแผงลอยมีลักษณะ คล้ายศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่ม ประการที่สอง street food ตอบโจทย์เรื่องราคา ด้วยความที่ไม่มีค่าเช่าที่ หรือค่าเช่าราคาไม่แพง ทำให้แผงลอยหรือร้านอาหารริมทาง เป็นที่พึ่งของกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ในมุมเศรษฐกิจมหภาค อาหารริมฟุตบาท ร้านอาหารริมทาง เป็นสีสันทางวัฒนธรรม ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชาติด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณไว้ว่า มูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารริมทางในปี 2566 จะสูงถึง 4.25 แสนล้านบาททีเดียว

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ อธิบายต่อว่า ความพยายามของหลายฝ่ายในอดีต ที่เคยจะปั้นถนนสีลมให้เป็นถนนคนเดิน มีการลงทุน ออกแบบ สร้างกติกา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือที่คลองโอ่งอ่าง มีการสร้างกิจกรรมต่างๆ นำสื่อไปทำข่าว แต่ผลลัพธ์ก็ไม่เป็นดังที่ตั้งใจไว้นัก

“การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ย่าน” ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้นๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย”

สำหรับจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน เป็นย่านที่มีศักยภาพสูง ด้วยหลายปัจจัยที่ลงตัว ประการแรก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ (PMCU) มีโครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่อยู่แล้ว มีการจัดหมวดหมู่ร้านค้า (zoning) ให้มีเอกลักษณ์และความชัดเจน อย่างที่เลือกให้บรรทัดทอง-สามย่านเป็นแหล่งรวม Thai Street Food

“ย่านบรรทัดทอง-สามย่านมีต้นทุนที่ดีมากอยู่แล้ว คือ เป็นถนนที่มีร้านอาหารหลากหลาย ทั้งร้านดั้งเดิมและร้านอาหาร ที่ย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราช” รศ.ดร.จิตติศักดิ์ กล่าว

จากต้นทุนที่ดีดังกล่าว PMCU ได้ยกระดับทั้งพื้นที่ให้เป็นย่าน street food ยุคใหม่ เน้นให้ร้านอาหารต่างๆ ปรุงอาหารตามสุขลักษณะ และมีการจัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดูทันสมัย เข้าถึงง่าย สะดวกและปลอดภัย แตกต่างจากภาพลักษณ์อาหารริมทางแบบเดิม นอกจากต้นทุนด้านผู้ประกอบการอาหารริมทางที่มีอยู่แล้ว สามย่าน-บรรทัดทอง ยังเป็นทำเลทองที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ

รศ.ดร.จิตติศักดิ์ อธิบายต่อว่า การเกิด “ย่าน” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะทำให้ย่านนี้ เกิดความยั่งยืนก็ไม่ง่ายเช่นกัน การจะทำให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่นี้ เกิดความพึงพอใจนั้นไม่ง่าย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน (PMCU) ไม่อาจทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้โดยลำพัง แต่ต้องอาศัยทีม รวมถึงการบริการจัดการในภาพใหญ่ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

สำหรับความอร่อยสไตล์ street food ที่ย่านจุฬาฯ บรรทัดทอง สามย่าน มีให้ได้ลิ้มลองกัน 3 แนวด้วยกัน ได้แก่

1.ร้านดังในตำนาน เป็นร้านอาหารดั้งเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ ขายกันตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก เช่น ร้านโจ๊กสามย่าน ร้านเจ๊แดง ร้านน้ำเต้าหู้เจ้วรรณ
2.ร้านดังระดับมิชลินไกด์ เช่น ข้าวต้มปลากิมโป้ ร้านเอลวิสสุกี้ & ซีฟู้ด ร้านล้งเล้งลูกชิ้นปลา
3.ร้านอร่อยตามกระแส เช่น ร้าน CQK Mala Hotpot ร้านหนึ่ง-นม-นัว ร้านฉันจะกินชาเย็นทุกวัน ร้านขนมไทยแม่เดือน

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat