‘สตช.’ ร่วมกับ ‘สาธิตจุฬา’ จัดฝึกอบรมเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ กรณีคนร้ายยิงกราด
‘สตช.’ ร่วมกับ ‘สาธิตจุฬา’ จัดฝึกอบรมเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ กรณีคนร้ายยิงกราด พร้อมจำลองเหตุการณ์เพื่อให้บุคลากร และนักเรียนปฏิบัติตัวให้ถูกต้องกับสถานการณ์
วันนี้ (20 ต.ค. 65) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอบรมเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ กรณีคนร้ายยิงกราด (Active Shooter) โดยจะอบรมให้คณะครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรอื่นๆในโรงเรียน
นอกจากนี้ยังมีการอบรมในภาคปฏิบัติทั้งหมด 4 ฐาน
- การหนี ซ่อน สู้
- การหนี
- สังเกตุทางเข้าออก มีกี่ทิศทาง และทางไหนสามารถต่อกับขนส่งมวลชนได้ดี
- หลีกเลี่ยงการหนีไปทางตัน กำแพง หรือเส้นทางที่ไม่สามารถไปต่อได้
- ทิศทางการหนี ต้องตรงข้ามจากเสียงปืน
- ทิศทางการหนี กรณีไม่ได้ยินเสียงปืน ให้ไปทิศทางเดียวกับการวิ่งของกลุ่มคน
- จดจำรูปพรรณสัณฐานคนร้าย ลักษณะอาวุธที่ใช้ และจำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
- เมื่อพ้นภัยแล้วโทรแจ้ง 191
- การซ่อน : ในที่ที่ควรซ่อน
- เมื่อไม่สามารถหนี และไม่แน่ใจว่าคนร้ายอยู่จุดไหนจะต้องซ่อนตัวทันที
- เลือกห้องที่มีความแข็งแรง
- เมื่อเข้าห้องแล้วปิดล็อกประตู หาสิ่งของมาค้ำยันประตู เพื่อไม่ให้ด้านนอกไม่สามารถเข้ามาได้
- แจ้งตำแหน่งตัวเองกับผู้ใกล้ชิด ห้ามแจ้งตำแหน่งตัวเองลงสื่อโซเชียล เพราะคนร้ายอาจจะเข้าถึงข้อมูลนี้ด้วย
- ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ ปิดสั่น และลดแสง
- พยายามสังเกตุที่ประตู และหาสิ่งของเพื่อเตรียมใช้เป็นอาวุธมาไว้ใกล้ เผื่อต้องต่อสู้
- พยายามปลอบขวัญดึงสติกับเพื่อนร่วมห้อง และสื่อสารวางแผนหากต้องต่อสู้
- สู้ : สู้เมื่อไหร่ ใครสู้บ้าง
- ข้อควรระวัง* การสู้เป็นกรณีที่คนร้ายบุกเข้ามาหาเรายังที่ซ่อน ไม่ใช่การออกไปสู้กับคนร้ายกรณีที่คนร้ายยังไม่ตรวจพบเราเจอ
- เมื่อไม่สามารถหนีไปที่อื่นได้แล้ว และคนร้ายบุกเข้ามายังที่ซ่อน ทุกคนต้องร่วมใจกันสู้ ไม่เฉพาะสู้แค่คนใดคนหนึ่งแต่ต้องสู้ทุกคน
- ทุกสิ่งสามารถใช้เป็นอาวุธได้ เช่นถังดับเพลิงขวานดับเพลิง น้ำยาล้างห้องน้ำ โต๊ะเก้าอี้ปากกาดินสอ รวมถึงแม้จะเป็นมือเปล่าด้วย
- สู้จนกว่าคนร้ายจะหยุดหรือไม่สามารถทำอันตรายต่อเราได้แล้ว
2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- เน้นในการรักษา พยายามช่วยเหลือชีวิต : ห้ามเลือดที่ไหล , ทางเดินหายใจ
- ตรวจเช็คอาการผลกระทบอื่นๆ
- สร้างทำลำเลียงอพยพผู้บาดเจ็บที่ปลอดภัย
- ส่งผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
3. การปฏิบัติเมื่อพบ IED ระเบิด
- กฎ 3 ข้อ
1.) ห้ามแตะ หรือสัมผัสวัตถุ
2.) สร้างระยะห่าง มุม และช่องทางเดินอากาศ
3.) ทำสัญลักษณ์ และสื่อสารถึงตำแหน่งของ IED
พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์ ว่า วันนี้มาอบรมหลักสูตร Active Shooter ที่ไปศึกษาจากสหรัฐอเมริกา มาให้ความรู้กับสถานศึกษา โดยทีมงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.สำราญ นวลมา ซึ่งทำเรื่องนี้มานานแล้วแต่ยังไม่ทั่วถึง แต่หลังจากเกิดเหตุที่จ.หนองบัวลำภู หลังจากถอดบทเรียนพบว่าการให้ความรู้กับผู้ประสบเหตุจะลดการสูญเสียได้มากที่สุด โดยเฉพาะจุดที่เป็น Soft target เช่นสถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่สาธารณะต่างๆ
ทั้งนี้การมาทำการสาธิตในครั้งนี้จะมีการบันทึกภาพและเสียงทำเป็นวิดีโอเผยแพร่ และผบ.ตร.กับ รมว.ศึกษาธิการกำลังทำข้อตกลงกันเพื่อที่จะส่งครูฝึกที่เป็นตำรวจที่ได้รับการฝึกมาแล้วทุก สน. ให้ไปสอนให้กับคุณครูตามโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนทั้งประเทศมีกว่า 20,000 กว่าโรงเรียน แต่มีโรงพักแค่เพียง 1,400 กว่าโรงพัก ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าไปฝึกได้ทุกโรงเรียนจึงจะจัดฝึกให้กับครูแล้วให้ครูไปถ่ายทอดกับเด็กนักเรียนต่อไป โดยเน้นความเข้าใจที่ง่ายอย่างเช่น Run Hide Fight คือการหลีกเลี่ยง หลบซ่อน การเข้าสู้ ซึ่งสำหรับการวัดผลไม่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ แต่ต้องวัดผลเชิงคุณภาพ นั่นคือความพึงพอใจของประชาชนว่ามีความพึงพอใจหรือไม่ที่ทางตำรวจได้เข้ามาให้ความรู้ตรงนี้ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันช่วยเฝ้าระวัง เพราะ “การลดอาชญากรรมได้ดีที่สุดคือ การมีพี่น้องประชาชนเป็นแนวร่วมของตำรวจ” พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประสานในการดูแลบริษัทรักษาความปลอดภัย ต้องฝึกอบรมและออกใบอนุญาตประกอบกิจการรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะมีการสอดแทรกความรู้ การปฏิบัติ และการเอาตัวรอดเข้าไปด้วย
ส่วนปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด Active Shooter มี 3 อย่างคือ
- สภาพจิตใจของผู้ก่อเหตุ ความกดดัน และยาเสพติด
- สภาพแวดล้อมสังคมของตัวผู้ก่อเหตุ
- ปัจจัยทั้ง 2 ข้อจะนำไปสู่การตอบโต้ และก่อเหตุ
ด้านอาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การให้ความรู้นักเรียนในเบื้องต้น และวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับภาพยนตร์ที่รับชม ถือเป็นโอกาสดีที่นักเรียนจะได้เห็นภาพที่ชัดเจน และปฏิบัติตัวได้ถูกต้องชัดเจนว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ด้านผู้ปกครองก็สบายใจขึ้นต่อการเอาตัวรอดของนักเรียน และนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อไป เพื่อขยายความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น
เรื่อง : จิณห์นิภา บัวแสงใส
ภาพ : ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์