‘วิษณุ’ แถลงผลสอบ ส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ คืนเก้าอี้ ผบ.ตร. รับ มีความขัดแย้งใน ตร.จริง
วันนี้ (20 มิ.ย. 67) เวลา 11:00 น. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงรายละเอียดผลการสอบกรณีความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ ว่า ผลการตรวจสอบพบว่า มีความขัดแย้ง และความไม่เรียบร้อยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง ในทุกระดับ ทุกฝ่าย จนเกิดเป็นคดีความต่างๆ ทั้งร้องเรียน และฟ้องร้อง บุคคล 2 ฝ่าย และทั้ง 2 ก็มีทีมงานของตัวเองจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นไปด้วย จึงต้องส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ บางเรื่องส่งให้กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม คือตำรวจ อัยการ ศาล ว่าไปตามปกติ
ส่วนบางเรื่องเกี่ยวพันกับหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม คือองค์กรอิสระ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ก็รับไปดำเนินการซึ่งเวลานี้คดีทั้งหมดมีเจ้าของคดีรับดำเนินการอยู่แล้วทั้งสิ้น ไม่มีคดีตกค้างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็นำมาสู่ผลสรุปรายงาน ว่า กรณีของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เนื่องจากได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เดิมทีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์และพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ได้ถูกคำสั่งสำนักนายกให้มาช่วยราชการที่สำนักนายก แต่พอถึงวันที่ 18 เมษายน 2567 ได้ส่งตัวพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์แต่เพียงผู้เดียวกลับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในตำแหน่งและหน้าที่เดิมแต่ในวันเดียวกันนั้นเองก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง เพื่อสอบสวนทางวินัยและตามมาด้วยคำสั่งอีกฉบับ ให้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน
ส่วนกรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เนื่องจากไม่มีอะไรจะต้องสอบสวนแล้ว จึงส่งให้กลับไปปฎิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตามเดิม การที่นำตัวมาที่ทำเนียบ เพื่อที่จะได้มีการสอบสวน แต่เมื่อสอบข้อเท็จจริง และสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว หรือกระบวนการที่ยังอยู่ในการพิจารณาของป.ป.ช. ซึ่งไม่มีเหตุให้อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล จึงให้กลับไปทำงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตามเดิม ส่วนคดีให้เป็นไปตามสายงานของคดี ส่วนการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบวินัยเพิ่มเติม เป็นเรื่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการต่อไปให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ผลการสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้ชี้ว่ามี ถูกหรือผิด แต่พบเห็นความยุ่งเหยิงของงาน เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นไม่รู้ว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจตำรวจหรือ ปปช. หรือ ปปง. หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับการทุจริต จึงให้หน่วยงานกระจายคดีไปรับผิดชอบ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้รับทราบผลการตรวจสอบทั้งหมดจึงมอบหมายให้ตนเองมาแถลงและส่งมอบคดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนประเด็นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีมติเอกฉันท์ 10:0 ว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไปทำเรื่องให้ถูกต้องก่อน ส่วนระหว่างนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะสามารถกลับไปทำหน้าที่ได้หรือไม่ นายวิษณุตอบแค่ว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการไว้ก่อน จะต้องมีคนรับผิดชอบหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า จะต้องไปดูว่ามีเจตนาหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ไม่สามารถตอบได้
นายวิษณุ ยืนยันว่า การส่งตัวกลับทั้ง 2 คน ไม่ใช่การฟอกขาว หรือทำให้ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สิ้นสุดลงได้ แต่เชื่อว่า คำกำชับของนายกฯ ที่ขอให้ปรองดองในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน ก็น่าจะเป็นไปได้ พร้อมย้ำว่า การตรวจสอบ และย้ายกลับของทั้ง 2 คน ไม่ใช่การเกี๊ยะเซี้ย และไม่ใช่แค่เรื่องความขัดแย้ง แต่เป็นเรื่องที่มีตำรวจกระทำผิดกฎหมาย และท้ายสุดเชื่อว่าตำรวจที่กระทำผิดจะต้องรับโทษตามกฎหมาย
ส่วนในรายงานมีการระบุว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนเองมีหน้าที่แถลง ไม่ได้เห็นในรายละเอียดทั้งหมด แต่ในรายงานระบุว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีส่วนพัวพันกับคดีผิดกฎหมาย
ส่วนคำสั่งย้าย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในวันเดียวถึง 3 คำสั่ง ว่าหลังจากนี้จะต้องไตร่ตรองในการสั่งย้ายใครหรือไม่ และจะต้องมีใครรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า การจะย้ายใครจะต้องดูที่เจตนา หากมีเจตนาโดยสุจริต ก็ไม่ถือว่ากระทำผิด เพราะในราชการก็ให้เซ็นออกจากราชการไว้ก่อน ล้วนเคยเกิดขึ้น เรื่องนี้จึงจะต้องไปว่ากันอีกที รวมทั้งตำรวจควรจะรู้กฎหมาย ไม่ใช่ควรไตร่ตรอง แต่ต้องรู้โดยหน้าที่ไม่เช่นนั้น ก็จะมีความยุ่งเหยิง จนตนเองต้องมานั่งแถลง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คณะกรรมการสอบสวน แต่ต้องชมว่าคณะกรรมการของนายฉัตรชัย เป็นประธานตรวจสอบทำได้ดี เพราะตลอดระยะเวลา 4 เดือน จะต้องสอบพยานถึง 50 ปาก
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ตนเองต้องมาแถลงผลตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง เพราะเป็นประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่ 2 และเรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมายสำคัญ ส่วนที่มีเอกสารคำสั่งนายกฯ หลุดออกไปเมื่อวานนี้ หลุดไปได้อย่างไรตนเองไม่ทราบ เพราะในเวลาที่ตนนั่งแถลงอยู่ นายกฯ ยังไม่ได้เซ็นคำสั่งให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะมีโอกาสกลับไปเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ได้หรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า มีโอกาส แต่ไม่มีกรอบเวลาในการตรวจสอบ เพราะในกฎหมายตำรวจเองนั้นก็ระบุชัดเจนว่า จะไม่เอาเหตุผลนี้ มาเป็นเหตุสกัดกั้นการดำรงตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งของบุคคล ที่กฎหมายระบุไว้