iLaw สรุปผลจับตาคะแนนเลือกตั้ง พร้อมถอดบทเรียน
iLaw สรุปผลจับตาคะแนนเลือกตั้ง เรียกร้อง กกต.รับรองผลคะแนนในหน่วยที่ไม่มีปัญหาภายในวันจันทร์นี้ พร้อมถอดบทเรียน พัฒนาระบบรายงานคะแนนให้ดีขึ้น
วันนี้ (20 พ.ค.66) iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน จัดแถลงข่าวสรุปผลการจับตาคะแนนเลือกตั้ง 66 ในวันที่ประชาชนลุกขึ้นยืนถือกล้อง
นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล iLaw กล่าวว่า ในวันเลือกตั้งได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 375 กรณี โดย 81 กรณี เป็นเรื่องการไม่ให้ถ่ายภาพ 41 กรณี กปน.ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ ไม่ขอให้เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อดูใบหน้า ที่เหลือเป็นกรณีบอร์ดแนะนำผู้สมัครไม่ครบถ้วน และเป็นบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังมีรายชื่อเป็นผู้ใช้สิทธิ ทั้งหมดสะท้อนความไม่พร้อม และการรู้ระเบียบกฎหมายของ กปน.
ส่วนการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกราช
อาณาจักร มีอาสาสมัครจับตาการนับคะแนน 150 คน พบปัญหาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 3 เนื่องจากมีการระบุว่าบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจะส่งมาไม่ทันการนับคะแนน ซึ่งจากการตรวจสอบพบนับบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยดีแล้ว
โดยสิ่งที่กังวลมากคือบัตรเขย่ง เพราะในวันเลือกตั้งล่วงหน้ามีการเขียนเขตเลือกตั้งและรหัสเขตเลือกตั้งผิด โดยยกปัญหาที่เขตดินแดง ปัญหาบัตรเสียจากสีปากกา ความไม่พร้อมของสถานที่นับคะแนน เช่น จังหวัดเชียงใหม่เขต 1 นับคะแนนที่สนามฟุตซอล ที่มีลูกกรงล้อมรอบทำให้ผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าไปสังเกตการณ์การนับคะแนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายภูภุช กนิษฐชาต เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล iLaw กล่าวถึงปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับระบบ ECT Report ยกตัวอย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขต 2 พบผลคะแนนในระบบผิดพลาด กรุงเทพมหานคร เขต 20 (ลาดกระบัง) ในระบบระบุผู้มาใช้สิทธิเกิน 103% ทั้งยังเปิดเผยข้อครหาการซื้อเสียงของผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ จังหวัดพังงา เขต 2 ซึ่งเมื่อวานนี้ (19 พ.ค.66) ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอต่อ กกต.จังหวัดพังงา เพื่อเรียกร้องให้จัดเลือกตั้งใหม่
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า การเบือกตั้งครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่มีประชาชนมาเป็นอาสาจับตาการเลือกตั้ง ฝากถึง กปน. เราไม่มีมีนโยบายเอาผิดดำเนินคดี กปน.ระดับปฏิบัติ แต่สิ่งที่ท่านทำในบางเขตเลือกตั้งคือ นำตำรวจมาข่มขู่ สะท้อนถึงความไม่สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ เราอยากให้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เลือกตั้งครั้งหน้าขอให้พัฒนาตนเอง และปรับปรุงตัว ส่วนระบบ ECT Report ยังช้าและผิดพลาดมาก
สำหรับข้อเสนอต่อ กกต.ในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้า กกต.ควรเร่งรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด หากตรวจสอบแล้วว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ใดไม่มีข้อสงสัยเรื่องทุจริตควรประกาศรับรองในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เดินหน้าไปได้โดยไม่เปิดช่องว่างให้เกิดการเจรจาต่อรอง เปลี่ยนแปลงแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลให้แตกต่างไปจากที่ประชาชนได้ออกเสียง
สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีข้อร้องเรียนว่าผลคะแนนรวมไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งสามารถใช้อำนาจของ กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ได้ ซึ่งควรสั่งโดยเร็ว เพราะเป็นวัฒนธรรมพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส โดยเขตเลือกตั้งที่ยังมีข้อสงสัยหรือมีข้อร้องเรียน กกต. ควรเร่งตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณะให้เร็วที่สุด
ส่วนข้อเสนอแนะสำหรับการจัดการเลือกตั้งครั้งถัดไป กกต.ควรเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ เช่น สถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ ข้อมูลจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ข้อมูลเรื่องร้องเรียนและผลการพิจารณา พร้อมทั้งให้ความรู้จัดอบรมให้กับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ให้เข้าใจระบบการจัดการเลือกตั้งมากขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบ สอบถาม ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอได้อย่างเต็มที่ และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระและเพิ่มประสิทธิภาพของ กปน.
ทั้งนี้ กกต.ควรถอดบทเรียนจากระบบรายงานผลคะแนนในปี 2566 และพัฒนาระบบที่ดีขึ้น โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายระเบียบ และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรายงานผลคะแนนที่รวดเร็วถูกต้องและโปร่งใสกว่าเดิม