นายกฯ เยี่ยมชมศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ ยัน พร้อมส่งเสริมเกษตรกร
วันนี้ (20 ม.ค. 67) ที่ศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมชมโครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ
นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายถึงประเด็นการส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่และการใช้เทคโนโลยีในการเพาะปลูก ซึ่งจากข้อมูลของโครงการศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ พบว่า ไทยมีศักยภาพในหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิประเทศทั้งพื้นราบและที่สูงสามารถผลิตได้ทั้งไม้ดอกไม้ผลได้หลากหลาย เนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถพัฒนาเป็นพันธุ์พืชชนิดใหม่ ๆ ได้อีกมาก ซึ่งศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกและไม้ผลให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่โครงการพระราชดำริ นำกล้าไม้ไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ตลาด รวมถึงยังหาตลาดให้กับเกษตรกรที่อยู่ในโครงการด้วย
โดยตัวอย่างพันธุ์พืชที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือ พืชกลุ่มปทุมมา และกลุ่มกระเจียว หรือที่ต่างชาตินิยมเรียกว่า “สยามทิวลิป” ซึ่งมีการคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีสีสันสวยงาม จนเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของภาคเหนือในปัจจุบัน รวมไปถึง กล้วยไม้แวนด้า ดอกไฮเด็นเยียร์ และล่าสุดมีการส่งเสริมการปลูกต้นวาซาบิ ที่สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละกว่า 10,000 บาท
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเยี่ยมชมครั้งนี้ถือเป็นการ Kickoff จุดเริ่มต้นที่ดีในการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ในการร่วมกันพัฒนาสินค้าทางการเกษตรของไทยที่มีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาสยามทิวลิป ซึ่งอยู่ที่การนำเสนอไม้ดอกไม้ผลอย่างไรให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภค ยกระดับรายได้ให้ประชาชนอย่างยั่งยืน
ต่อมา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ และหน่วยงานความร่วมมือ จำนวน 6 งาน ได้แก่
1.งานพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ได้แก่ ลูกผสมปทุมมาและกระเจียว สายพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืช และคุ้มครองพันธุ์พืชที่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรจากภาคเหนือจรดภาคใต้ ลูกผสมแกลดิโอลัส ลูกผสมดาหลา และบานชื่น
2.การขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชชนิดต่างๆ ที่นำไปส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และงานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตพืชในระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เช่น ปทุมมา กระเจียว แกลดิโอลัส วาซาบิ และ สตรอว์เบอร์รี
3.ผลิตภัณฑ์สินค้าพืชเมืองหนาว เช่น ไฮเดรนเยีย ลิลลี ลาเวนเดอร์ และ วาซาบิ
4.การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาเย็น (Cold Plasma technology) จากความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ กับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์วิจัยเชิงธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับเกษตรและชีวภาพ (Agriculture and Bio Plasma Technology Center : ABPlas) เพื่อพัฒนางานวิจัยด้านไม้ดอกและไม้ผล
5.งานขยายผลกลุ่มไม้ดอก ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ฯ บ้านไร่ฯ (กลุ่มผู้ผลิตแกลดิโอลัส และ กลุ่มผลิตปทุมมาและกระเจียว)
6.งานขยายผลบนพื้นที่สูง งานแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนเผ่า เช่น กาแฟภูพยัคฆ์ และการทำเครื่องจักรสาน ฯลฯ
นอกจากนี้ ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกต่าง ๆ รวมไปถึงการศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ ซึ่งมีแผนงานพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผล 7 ชนิด ได้แก่ 1. กระเจียว ปทุมมา 2. แกลดิโอลัส 3. บานชื่น 4. ดาหลา 5. แอสเตอร์ 6. หงส์เหิร และ7. สตรอว์เบอร์รี เพื่อนำผลสำเร็จในการขยายพันธุ์พืชไปถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศ นำไปเพาะปลูกเพื่อประกอบอาชีพ รวมไปถึงร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคเอกชน องค์กรต่าง ๆ โดยสามารถพัฒนาธุรกิจส่งออก ผ่านการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร เชื่อมโยงกับผู้ส่งออก และผู้นำเข้าจากต่างประเทศ สร้างรายได้กว่า 38,668,975 ล้านบาท (จากข้อมูลกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับการขยายผล เมื่อปี พ.ศ. 2565)
ทั้งนี้ โครงการศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2523 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เริ่มดำเนินการทดลองขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลในหมู่บ้านไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2528 ทรงมีนโยบายยกฐานะของโครงการขึ้นเป็นศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ สังกัดอยู่ในศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) พร้อมทั้งเพิ่มภารกิจให้ครอบคลุมไปถึงงานพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลด้วย โดยมีพื้นที่ตั้งของสำนักงานศูนย์บริการการพัฒนาขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่ฯ อยู่ในหมู่ 1 ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 33 ไร่ และหน่วยฝึกยางคราม อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ 90 ไร่