’ชัยธวัช‘ ยินดี นายกฯ ลงนามส่ง ’พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ เข้าสภาสัปดาห์นี้

’ชัยธวัช‘ ยินดีร่วมผ่านร่าง ’พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ ชี้เป็นเรื่องดี นายกฯ ลงนามส่งเข้าสภาสัปดาห์นี้ หวังเป็นตัวอย่างไม่ค้านทุกเรื่อง-ร่วมผ่านกฎหมายเพื่อประชาชน ยอมรับไม่อยากให้สภาล่ม แต่เป็นหน้าที่เสียงข้างมากรักษาองค์ประชุม
วันนี้ (19 ธ.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีลงนามในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งจะถูกบรรจุลงวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในสภาฯ ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ โดยระบุว่า ในส่วนของพรรคก้าวไกลมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว เพราะร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล ได้เสนอผ่านสภาฯ เป็นร่างกฎหมายที่จ่อเข้าพิจารณาในสภาฯ อยู่แล้ว
นายชัยธวัช ยังกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีร่างของรัฐบาลบรรจุเข้ามาตามที่ได้พูดไว้ น่าจะเป็นร่างกฎหมายที่สภาฯ ร่วมกันในการผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนได้ โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล พร้อมหวังว่าคงไม่ใช่ฉบับนี้ฉบับเดียว
“เราเองแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่ก็หวังว่าสภาฯ ชุดนี้ จะมีการทำงานโดยยึดหลักผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน” นายชัยธวัช กล่าว
ส่วนจะเกิดเหตุการณ์สภาล่ม เนื่องจาก สส.ฝ่ายค้านบางส่วนไม่ร่วมลงมติหลังนับองค์ประชุมเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า บรรยากาศแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะ สส.ฝั่งรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมาก ควรมีวินัยมากกว่านี้ในการมาประชุมสภาฯ
นายชัยธวัช ได้ยกตัวอย่างกรณีเสนอร่างข้อบังคับสภาก้าวหน้า ซึ่งฝ่ายค้านได้พยายามประนีประนอมกับฝ่ายรัฐบาลแล้ว โดยเสนอให้นำร่างข้อบังคับเข้าศึกษาในชั้นกรรมาธิการก่อน ซึ่งได้มีการพูดคุยกันโดยเบื้องต้น แต่เมื่อใกล้เวลาลงมติ กลับมีกระแสข่าวว่าฝ่ายรัฐบาลจะโหวตคว่ำเลย การทำงานร่วมกันจึงไม่เป็นไปตามที่คาด เราไม่อยากจะให้เกิดบรรยากาศแบบนี้บ่อยมากนักในสภาฯ
“เราเห็นว่าการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติควรจะยึดหลักการที่ถูกต้อง และผลประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านเสนออะไรมาต้องคว่ำหมด ถ้ารัฐบาลเสนออะไรมาฝ่ายค้านก็ค้านหมด พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นตัวอย่างที่ดี และเราหวังว่าปีหน้า น่าจะเกิดบรรยากาศที่ดีขึ้น” นายชัยธวัช กล่าว
ส่วนแนวทางของ สส.ที่อาจจะนับถือศาสนาอื่นๆ จะลงมติในร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อย่างไรนั้น นายชัยธวัช ระบุว่า ก็คงต้องพูดคุยกัน เราพยายามจะแยกว่าการออกกฎหมายของประชาชน ไม่ได้เป็นการบังคับให้ประชาชนต้องคิด ต้องเชื่อ ในสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาของตัวเอง แต่เป็นการรองรับสิทธิ โดยไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำแบบนั้น และการแต่งงานทางศาสนาและการแต่งงานตามกฎหมาย ก็สามารถแยกออกจากกันได้