POLITICS

‘กมธ.ความมั่นคง’ เชิญ UNHCR ถกปัญหาผู้ลี้ภัย-หนีภัยสงครามมาไทยจ่ออพยพไปประเทศที่สาม

‘กมธ.ความมั่นคง’ เชิญ UNHCR ถกปัญหาผู้ลี้ภัย-หนีภัยสงครามมาไทย จ่ออพยพไปประเทศที่สาม เชิญ ผบ.ทบ.-ปลัด กต.-ปลัด มท.- สมช. ชี้แจงสัปดาห์หน้า

วันนี้ (19 ต.ค. 66) คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ได้ประชุมเป็นครั้งที่ 3 เชิญองค์กรหรือภาคีที่ติดตามและแนวทางแก้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน และผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กมธ.ความมั่นคงฯ เผยว่าวันนี้คณะกรรมาธิการให้ความสนใจ กรณีผู้หนีภัยสงครามและผู้หนีภัยการสู้รบที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเราโดยได้แบ่งกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบออกเป็นสี่กลุ่มใหญ่ใหญ่คือผู้ลี้ภัยที่อยู่มาก่อนแล้วเก้าศูนย์ในสี่จังหวัดชายแดนไทยเมียนมาร์มีจำนวนประมาณ 90,000 คนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2528 โดยคนเหล่านี้ยังคงอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวและปัญหานี้เกี่ยวข้องกับประเทศไทยที่ไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย จึงทำให้ไม่มีกฎหมายลูกของประเทศไทยในการจัดการผู้ลี้ภัย เป็นปัญหาที่ยาวนานกว่า 40 ปี

นายมานพ เผยว่า Mr.Giuseppe De Vincentiis ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้เสนอว่ามีแนวทางพาผู้อพยพไปอยู่ประเทศที่ 3 เป็นจำนวน 7 ปี ปีละ 10,000 คน ขณะที่ภาคประชาชนนำเสนอว่าให้ออกสถานะบุคคลเป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทย เพื่อให้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง

อีกกลุ่มคือ ผู้หนีภัยสู้รบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ใน จ.แม่ฮ่องสอน สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเพื่อนบ้าน ในระยะยาวต้องมีพื้นที่ปลอดภัย เพื่อไม่ให้มีการอพยพเข้ามา รวมถึงผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมือง 5,000-10,000 คน มีทั้งที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งที่หลบหนีโดยไม่สามารถเปิดเผยตัวตน

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยกลุ่มเปราะบาง ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น โรฮิงญา และอุยกูร์ โดยกรรมาธิการฯ ได้หาแนวทางเพื่อนำมาเสนอแนะให้ฝ่ายบริหารต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยังไม่ได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว โดยในสัปดาห์หน้าก็จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อไป ว่ามีแนวทางหรือข้อจำกัดอย่างไร

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติ กำหนดการเดินทางไปศึกษาดูงาน และจัดสัมมนา ที่ด่านผ่านแดนถาวรช่องเพื่อศึกษาปัญหาตามแนวชายแดน อาทิ เรื่องการค้าชายแดนจอม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ในปลายเดือน พ.ย. 2566 เรื่องการค้ามนุษย์ และแหล่งกบดานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกำหนดการลงพื้นที่ร่วมกับสมาชิกรัฐสภาอาเซียนชายแดนไทย-เมียนมา ที่ จ.เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน วันที่ 14-16 พ.ย.

คณะกรรมาธิการฯ ยังมีมติเบื้องต้น กำหนดเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เพื่อเข้าพบประชุมหารือ แลกเปลี่ยน
ระหว่างฝ่ายสภานิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงของรัฐ

สำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งที่ 4 ในสัปดาห์หน้า 26 ต.ค. 2566 จะได้เชิญผู้บริหารหรือตัวแทนฯ หน่วยงานความมั่นคงเข้าร่วมประชุม กับคณะกรรมาธิการฯ ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงในเด็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat