รมว.คมนาคม ร่วมเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม ร่วมงานประชุมเสวนา “Better Thailand Open Dialogue : ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร” เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่ได้หยุดหรือชะลอการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ เนื่องจากเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศครอบคลุมพื้นที่ สามารถรองรับความต้องการของประชาชนทั้งในระดับครัวเรือน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และส่งผลต่อยอดเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับประเทศ โดยในปี 2565 ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ในวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 2.24 ล้านล้านบาท
คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่งและมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักร และยานพาหนะต่าง ๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท จากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี ในปี 2565 หรือ คิดเป็น 2.35% ของ GDP
กระทรวงฯ ได้ลงทุนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ โดยด้านการขนส่งทางราง ได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเดินทางของระบบรางของไทยและของภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นศูนย์รวมของรถไฟทุกประเภท การพัฒนารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ การพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมืองเพื่อเพิ่มความสะดวกของประชาชนในการเดินทาง และการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ – ขอนแก่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – จิระ รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
ด้านการขนส่งทางถนน ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุด้วยการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพาราบริเวณเกาะกลางถนน เพื่อลดแรงกระแทกและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ด้านการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ด้านการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาระบบคมนาคมสำหรับอนาคต โดยมุ่งเน้นการกระจายความเจริญออกไปในพื้นที่อื่น คือ ออกแบบแนวเส้นทางโครงการให้เป็นแนวตรง เพื่อลดระยะเวลาการเดินทางซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่ง และลดผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนทั้งในด้านการเวนคืนที่ดินและการแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ฝั่ง
โดยจัดทำเป็นแผนแม่บทการพัฒนา MR-Map ศึกษาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ เชื่อมอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางทะเล รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ โดยรัฐบาลจะร่วมกับภาคเอกชนจัดตั้งสายการเดินเรือของไทย เพื่ออำนวยความสะดวก และให้สิทธิพิเศษในการจัดตั้งและดำเนินการ เพื่อให้กองเรือไทยสามารถแข่งขันได้ และเป็นเครื่องมือในการขนส่งสินค้าของไทย