‘ณัฐพงษ์’ ชี้ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บุคคลในครอบครัว’ เปิดกว้างในการอภิปราย
ย้ำ ดีลแลกประเทศคือประเด็นหลัก รอดู ‘แพทองธาร’ จะคุมเสียงพรรคร่วมได้หรือไม่ เชื่อ ข้อมูลที่ใช้อภิปรายอาจนำไปสู่การถอดถอนในอนาคต
วันนี้ (19 มี.ค. 68) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวถึงการประชุมวิปในวันนี้ว่า ควรจะมีข้อสรุปให้ได้ว่าตกลงแล้วจะอภิปรายในกรอบเวลากี่ชั่วโมง รวมถึงกติกาในการหักเวลาระหว่างกัน การประท้วงควรจะต้องไปหักเวลาในแต่ละฝ่ายเพื่อให้เวลาฝ่ายอื่น ทั้งนี้ อยากให้หาข้อสรุปตรงกันในเรื่องจำนวนชั่วโมง กติกา และวันที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ประเด็นรัฐบาลกำหนดมาแล้วว่าเป็น 23 ชั่วโมงให้ฝ่ายค้าน เชื่อว่ายังสามารถปรับยืดหยุ่นกันได้ แต่ไม่ควรเลิกดึกเกินไป เพราะคนที่ชี้แจงเองอย่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจไม่สามารถตอบชี้แจงได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก อีกทั้งประชาชนอาจรับฟังได้ไม่ทั่วถึง ฉะนั้นจะต้องอภิปรายตรงไปตรงมา และทำให้ประชาชนที่รับฟังเข้าถึงข้อมูลได้มากที่สุด
นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการเปลี่ยนญัตติจากชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคนในครอบครัวว่า ชื่อในการอภิปรายครั้งนี้คือ ‘ดีลแลกประเทศ’ เราเล็งเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเอาประโยชน์ของประเทศมาแลกกับผลประโยชน์ของบุคคลในครอบครัว การเปลี่ยนเป็นคำว่าบุคคลในครอบครัว เป็นการเปิดกว้างในการอภิปรายได้มากขึ้น การใช้คำในการอภิปรายในวันจริงเชื่อว่าจะมีคำที่หลากหลายนอกเหนือจากคำว่าบุคคลในครอบครัว การใช้คำว่าบุคคลในครอบครัวเป็นภาษาทางการที่เขียนไว้ในญัตติ คิดว่าเป็นคำที่ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนเป็นคำว่าบุคคลในครอบครัว มีความเป็นไปได้ที่จะรวมญาติอื่นในตระกูลชินวัตรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้เอาผลประโยชน์ของประชาชนหรือประเทศเป็นตัวตั้ง แต่เอาผลประโยชน์ของบุคคลในครอบครัวชินวัตรเป็นตัวตั้งมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ยากที่จะเล็งเห็นผลถึงการลงมติถอดถอนนายกฯ แต่ข้อมูลที่เปิดในการอภิปรายในสภาเชื่อว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการยื่นฟ้องร้องกระบวนการต่อไปถ้าหากนายกฯ ไม่สามารถตอบชี้แจงได้อย่างชัดเจน หรือไม่สามารถแก้ต่างข้อกล่าวหาได้ คิดว่าข้อมูลที่เปิดในการอภิปรายครั้งนี้มีแนวโน้มสูงที่สามารถนำไปสู่การยื่นถอดถอนได้ในอนาคต
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า เวลาระหว่างพรรคฝ่ายค้านต้องมีการแบ่งกัน ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ตลอดการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ผ่านมา ก็แสดงจุดยืนว่าจะขออภิปรายด้วย ก็ต้องจัดสรรเวลา ส่วนจะให้ใครมาเป็นผู้อภิปรายก็เป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค
ส่วนเรื่องของจำนวนเสียงที่จะมีการลงมติก็จะสะท้อน และเป็นส่วนสำคัญว่ารัฐบาลมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นทุกคะแนนเสียงที่โหวตเห็นชอบให้กับนายกฯ จะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจับตาและประเมินได้ว่ารัฐมนตรีจะสามารถควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ การดำเนินงานในฝ่ายนิติบัญญัติที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จะยิ่งเป็นการชี้ให้สังคมเห็น ต้องดูว่านายกฯ สามารถตอบชี้แจงได้หรือไม่ คิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นจะทำให้เห็นจุดนี้มากยิ่งขึ้น