POLITICS

‘เอ้ สุชัชวีร์’ ชี้ต้องนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาเปิด-ปิดประตูน้ำ แก้ปัญหาความผิดพลาดจากคน

วันนี้ (19 มี.ค. 65) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตลิ่งชัน พร้อมกับ น.ส.ฉัฐภรณ์ ปานทอง ผู้สมัคร ส.ก. เขตตลิ่งชัน ก่อนเดินทางไปตลาดน้ำตลิ่งชัน โดยได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองฝั่งธน ตั้งแต่คลองบางกรวย คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ คลองสวนแดง ที่ถือว่าเป็นคลองแดนสุดท้ายที่ยังพอประทังให้เป็นมรดกถึงลูกหลานว่า ปัญหาน้ำเน่าเกิดจากการปล่อยให้น้ำนิ่ง เมื่อน้ำนิ่งทำให้น้ำตายและเน่าในที่สุด เช่นเดียวกับตู้ปลาในบ้าน ถ้าไม่มีระบบบำบัดน้ำก็เน่า แต่ปัญหาน้ำในคลองเน่าเสีย เป็นเพราะระบบประตูระบายน้ำที่ต้องพึ่งพาแรงงานคน เมื่อไม่ได้รับการสั่งการ และไม่มีระบบติดตามระดับน้ำ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดประตูระบายน้ำไว้ก่อน ด้วยเหตุนี้น้ำดีจึงไหลเข้ามาไล่น้ำเสีย ในคลองออกไปไม่ได้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ ได้วาดกลไกน้ำขึ้น – น้ำลง ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดวัน ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่ถามกูเกิ้ลก็สามารถรับทราบความเคลื่อนไหวของน้ำขึ้น – น้ำลงได้ ขณะที่ กทม. ยังคงใช้คนรับคำสั่งเพื่อเปิด-ปิดประตูน้ำอยู่ แต่ถ้ามีการนำเอาระบบการเปิด-ปิดประตูน้ำอัตโนมัติมาใช้ จะสามารถเปิด – ปิดประตูน้ำให้ตรงกับระดับน้ำขึ้น-ลงที่เป็นปัจจุบันได้ ซึ่งในช่วงน้ำขึ้นเมื่อเปิดประตูน้ำอัตโนมัติ จะทำให้มีน้ำดีไหลเข้ามาผสมกับน้ำเสีย และทำให้น้ำในคลองดีขึ้นได้ แต่เมื่อถึงช่วงน้ำลดก็ให้ระบายน้ำออก โดยเฉพาะคลองที่อยู่ไกลจากปากแม่น้ำ สามารถติดตั้งระบบสูบน้ำอัตโนมัติช่วยระบายน้ำได้

“กทม. ยังเอาคนไปปะทะกับคน ซึ่งชาวบ้านริมคลองต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่ เหมือนเทศกิจจับมอเตอร์ไซค์ ในต่างประเทศเขาไม่ให้คนชนคน แต่ให้เทคโนโลยีชนกับคน หากคนขับรถเร็วจะไม่เจอตำรวจ แต่จะเจอใบสั่งส่งมาที่บ้าน เพราะกล้องวงจรปิดเชื่อถือได้ ไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่ต้องทะเลาะกัน เอาเทคโนโลยีมาช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องของน้ำทุกเมืองทำหมดแล้ว แต่กรุงเทพฯ ยังปล่อยให้คนชนคนอยู่ ต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

พร้อมกับเพิ่มเติมว่า การที่จะให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสวัสดิการที่ทันสมัยนั้น ก็เพื่อให้นำความทันสมัยมาดูแลพี่น้องประชาชน หากยังใช้แรงงานคนเปิดปิดประตูน้ำ เปิดปิดเครื่องสูบน้ำ และยังต้องให้มาคาดเดาการขึ้นลงของระดับน้ำ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ขณะที่คอมพิวเตอร์สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างแม่นยำ จึงควรจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนบุคลากรของ กทม. ที่มีอยู่สามารถดูแลบำรุงรักษาระบบ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยที่ประตูระบายน้ำอีกเรื่อง คือตะแกรงดักขยะมีสภาพผุพัง ส่งผลให้เศษขยะต่างๆ อุดตันทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหาย ดังนั้นจึงควรให้บุคลากรของสำนักระบายน้ำเข้าไปดูแลในเรื่องดังกล่าว แทนที่จะต้องมาปะทะกับพี่น้องประชาชนริมคลอง และต้องคอยเฝ้าเปิดปิดประตู

“ผมรู้ว่าเปลี่ยนกรุงเทพฯ ทำได้จริงๆ แล้วประหยัดด้วย คนที่อยู่ริมคลองไม่เดือดร้อน น้ำมีการหมุนเวียน ป้องกันน้ำท่วมได้ เจ้าหน้าที่ กทม. ก็ไม่ต้องมาเป็นจำเลย ไม่ต้องให้คนชนคน ผมพูดจริงๆ ว่ามันทำได้ และมันควรจะต้องทำ”

ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้ายว่าในสัปดาห์นี้ตนจะลงพื้นที่ครบ 50 เขตแล้ว และพบว่าปัญหา กทม. หนักกว่าที่คิด แต่นโยบายที่วางเอาไว้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้จริง และต้องทำทันที ซึ่งการแก้ปัญหา กทม. นั้นไม่สามารถทำได้โดยลำพัง แต่ตนมีทีมงาน ส.ก. ทั้ง 50 เขต ล้วนมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหา เพราะเกาะติดใกล้ชิดในพื้นที่มานาน สามารถเป็นกระบอกเสียงได้เพื่อทำให้ผู้รับผิดชอบสามารถเข้าแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

Related Posts

Send this to a friend