POLITICS

‘สมศักดิ์’ สั่งรื้อกฎหมายตั้งโรงงานพลุ คาดพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเหยื่อเสร็จสิ้นวันนี้

‘สมศักดิ์’ สั่งรื้อกฎหมายตั้งโรงงานพลุ หลังพบเหตุระเบิดสุพรรณบุรีอยู่นอกเหนือการควบคุม คาดพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลเหยื่อเสร็จสิ้นวันนี้ ก่อนเริ่มจ่ายเงินชดเชย

วันนี้ (19 ม.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแนวทางการบริหารจัดการการอนุญาตให้ทำและค้าดอกไม้เพลิง การเยียวยาและแนวทางการแก้ไขในอนาคต จากกรณีโรงงานพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี พร้อมเปิดเผยว่า วันนี้ได้ประชุมร่วมกันหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงยุติธรรม มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ กระทรวงแรงงาน ปอเต็กตึ๋ง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รองอธิบดีกรมการปกครอง และหน่วยงานในพื้นที่ โดยคาดการณ์ว่าการออกใบมรณบัตรจะครบทั้งหมดวันนี้ ก่อนจ่ายเงินชดเชยต่อไป ซึ่งขณะนี้มีความล่าช้าในการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล เพราะสภาพของบางรายมีความไม่ชัดเจน

สำหรับเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชย ผู้เสียหายแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น อายุไม่เกิน 25 ปีจะได้ 50,000 บาท หรือกรณีที่ผู้เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวมีสิทธิที่จะได้เงินเพิ่มขึ้น 30,000 บาท ด้านการบูรณาการกฎหมาย เตรียมแก้ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกํากับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครองการขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ. 2547 ซึ่งระบุถึงรายละเอียดโรงงาน โรงประกอบการ สถานที่จำหน่ายโกดัง ที่เก็บจะต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ต้องมีระยะห่างอย่างไร เก็บวัตถุระเบิดได้เท่าไร

ทั้งยังมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณา พ.ร.บ.โรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ว่าเครื่องจักรที่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือมีคนงานน้อยกว่า 50 คน ไม่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งหมด 8 โรงงานที่ครอบคลุม ดังนั้นโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของกรมโรงงาน รวมถึงเหตุพลุระเบิดที่ตำบลมูโน๊ะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และเหตุล่าสุดที่จังหวัดสุพรรณบุรีด้วย

ขณะที่สาเหตุของพลุระเบิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้น ต้องรอผลจากหน่วยพิสูจน์หลักฐาน เนื่องจากพื้นที่ตั้งโรงงาน มีทั้งส่วนผลิตทำพลุ ครัวทำอาหารอยู่บริเวณใกล้เคียง จัดเก็บสารเคมีและทำพลุในพื้นที่บริเวณเดียวกัน และมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ แอร์ พัดลมอยู่ด้วย ซึ่งในบริเวณดังกล่าวไม่ควรมีสิ่งเหล่านี้อยู่

อย่างไรก็ตามโรงพลุขนาดเล็กที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.โรงงาน จะมอบหมายให้นายอำเภอในแต่ละท้องที่ทำการสำรวจอย่างละเอียด

Related Posts

Send this to a friend