POLITICS

’หมอวรงค์‘ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลปกครอง ระงับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

ชี้ เป็นโครงการช่วยเหลือคนรวย แต่เอาคนจนมาบังหน้า ยกเทียบโครงการจำนำข้าว ที่จะสร้างความเสียหายประเทศมหาศาล

วันนี้ (18 ต.ค. 66) เวลา 10:30 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี พร้อมคณะ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลปกครองวินิจฉัย เพื่อให้ระงับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพื่อป้องกันความเสียหายของระบบการเงินการคลังของประเทศในอนาคต และเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยมี นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน เป็นผู้รับเรื่อง

นายวรงค์ กล่าวโดยสรุปว่า ประชาชนมีความสงสัยในความสุจริตของการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน วงเงิน 560,000 ล้านบาท ว่าใช้เงินจากแหล่งไหน เหตุใดประเทศไทยใช้เงินตราที่เป็นเงินบาท เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ทำไมไม่ดำเนินการแบบตรงไปตรงมาแจกเป็นเงินบาท ผ่านระบบเป๋าตัง ของกระทรวงการคลังที่พร้อมอยู่แล้ว แต่กลับดำเนินการแบบยอกย้อนแจกเป็นเงินดิจิทัลหรือแจกเป็นดิจิทัลโทเคน ที่กฎหมายเงินตราของประเทศไทยไม่ยอมรับ มีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีความรู้ ประสบการณ์ ด้านการเงินการคลัง จำนวน 99 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้าน เกรงว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบ การเงินการคลังของประเทศ และจะเป็นภาระต่อระบบงบประมาณในระยะยาว

นายแพทย์วรงค์ ย้ำว่า ต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

โดยในเอกสารยื่นคำร้อง นพ.วรงค์ ได้ร้องขอต่อประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการ ตามมาตรา 22 (1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือคำสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนหรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุและมาตรา 22 (2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น และ ดำเนินการตามมาตรา 23 (2)

รวมถึงเสนอเรื่องต่อศาลปกครองให้พิจารณาวินิจฉัย และมีคำพิพากษา หรือคำสั่งระงับการดำเนินการแจกเงินดิจิทัล หรือที่เรียกเป็นอย่าอื่น 10,000 บาท แก่บุคคลที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน เพื่อระงับยับยั้งมิให้เป็นการก่อหนี้ ก่อความเสียหายสร้างภาระแก่งบประมาณประเทศและระบบการเงินการคลังของประเทศในระยาวต่อไป ทั้งนี้สมควรร้องขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ให้ระงับการดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทไว้ก่อนระหว่างการพิจารณา เพราะหากมีการแจกเงินไปแล้ว จะเกิดความเสียหายต่องบประมาณ และระบบการเงินการคลังของประเทศ ยากทีจะเยียวยาได้

ทั้งนี้ นายวรงค์ ยังมองว่า นโยบายนี้นายกรัฐมนตรีบอกจะช่วยคนจน แต่ทำไมต้องแจกคนรวย และมีข้อกังขาว่า ทำไมไม่แจกเป็นเงินสด แต่เลือกที่จะแจกเป็นโทเคน ซึ่งการแจกโทเคน จะนำไปสู่การฟอกเงินสีเทาครั้งใหญ่ ในการรับซื้อโทเคนจากประชาชนที่ต้องการเงินบาท รวมทั้ง รัฐบาลยังไม่สามารถชี้แจงได้ว่าจะนำเงินมาจากไหน ซึ่งกังวลว่าจะนำไปสู่การทุจริตที่กระจายไปทุกแผ่นดิน และ กังวลอีกว่า จะไม่ใช่โครงการที่ช่วยคนจน แต่จะเป็นโครงการที่ช่วยคนรวย แต่เอาคนจนมาบังหน้า

“ถ้าศึกษาอย่างลึกซึ้งแล้วโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ช่วยคนรวย แต่เอาคนจนมาบังหน้า และสิ่งที่กระทำทั้งหมด จะนำไปสู่เรื่องการขัดกฎหมายหลายมาตรา“ นายวรงค์กล่าว

นายวรงค์ ยังยกนโยบายนี้ มาเทียบกับนโยบายจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สร้างความเสียหายมหาศาล โดยการอ้างว่าจะช่วยชาวนา ซึ่งนายเศรษฐา ก็อ้างว่าจะช่วยคนจน ผ่านการแจกเงินดิจิทัล

ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินส่ง นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน มาเป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยจะเร่งรัดนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยเร็วที่สุดต่อไป

Related Posts

Send this to a friend