พี่สาววันเฉลิม ร้อง กมธ.ความมั่นคงฯ หลังถูกคุกคาม – ขึ้นบัญชีดำ

พี่สาววันเฉลิม ร้อง กมธ.ความมั่นคงฯ หลังถูกคุกคาม – ขึ้นบัญชีดำ เป็นภัยความมั่นคง
วันนี้ (18 ก.ย. 67) นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ยื่นหนังสือต่อนายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร หลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม
นางสาวสิตานัน เปิดเผยว่าหลังจากที่นายวันเฉลิมถูกบังคับให้สูญหายในปี 2563 ตลอดระยะเวลา 4 ปีตนเองออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม จึงถูกคุกคาม ขึ้นบัญชีดำเป็นภัยความมั่นคงแห่งชาติ ปีนี้ก็ถูกตำรวจที่ออกจากราชการไปแล้ว กักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ตนเองไปถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า ในวันที่ฮุน เซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา มาเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดวันที่ 5 ก.ย.67 วันผู้สูญหายสากล ก็ถูกสั่งห้ามจัดแสดงภาพของนายวันเฉลิมในพื้นที่จัดแสดง จึงตั้งคำถามว่าผู้หญิงคนหนึ่งที่ตามหาน้องชาย ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นภัยความมั่นคงได้อย่างไร
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีมาตั้งแต่ต้น ระบุว่าในฐานะนักสิทธิมนุษยชนมักจะถูกติดตามและคุกคามเป็นประจำ กรณีของนางสาวสิตานัน ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ถือว่ายังเป็นผู้เสียหายที่ออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับทุกคน
เรามาเรียกร้องเรื่องความปลอดภัยของนักสิทธิมนุษยชนและทนายความที่ไม่สมควรถูกขึ้นบัญชีดำ เราอยากให้ทุกคนปลอดภัย การขึ้นบัญชีดำในรัฐบาลทหารเป็นการยอมรับโดยประเพณี แต่ขณะนี้มีรัฐบาลจากประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง การขึ้นบัญชีดำจึงถือเป็นความไม่ชอบธรรมและไม่อาจกระทำได้
ขณะที่ในวันผู้สูญหายสากล พวกเราถูกคุกคามโดยสั่งให้ผู้เป็นเจ้าของสถานที่ยุติการแสดงความคิดเห็นบางกรณี สั่งปลดรูปลงและไม่ให้เปิดตัวหนังสือของนางสาวสิตานันที่ได้เขียนบันทึกไว้ จึงตั้งคำถามว่ามีผู้ส่วนเกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เปิดตัวหนังสือนี้ใช่หรือไม่
นายรังสิมันต์ กล่าวว่าเรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ตนเองรู้สึกแปลกใจเพราะฟังแล้วนึกว่าอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว หากเกิดขึ้นจริงถือเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้คนกลายเป็นภัยต่อรัฐ ถ้าพิจารณาวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทำร้ายและการกระทำที่ทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คือการทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพราะการซ้อมทรมานและการอุ้มหายเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ที่ ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ จะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมาธิการฯ ในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.67) ก่อนจะมีการบรรจุในวาระพิจารณา
ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลผู้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร มีหน้าที่จะต้องคืนความเป็นธรรมและเป็นความยุติธรรมสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ สิ่งที่คณะกรรมาธิการฯ ทำได้ทันทีคือ การสอบข้อเท็จจริง และรับฟังข้อเท็จจริงจากฝ่ายรัฐ หากมีการกระทำผิดจริงจะต้องมีการรับผิด-รับชอบ ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนายวันเฉลิมที่ไม่มีความคืบหน้า เป็นสิ่งที่ต้องให้ความกระจ่าง เพราะมีคลิปวิดีโอและหลักฐานชัดเจน หากเราทำกรณีนี้ให้มีคุณภาพ จะทำให้คดีอุ้มหายอื่น ๆ ได้รับความคุ้มครอง และได้รับความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก