‘ยุทธพร’ มองโหวตนายกฯ 22 ส.ค.นี้อาจไม่จบ
’เศรษฐา’ ไม่ถึงฝัน ‘พลเอกประวิตร-อนุทิน’ มีโอกาสนั่งนายกฯ เชื่อหาก 2 พรรคลุงมาด้วยความจริงใจ ได้ สว.หนุนอย่างน้อยร้อยเสียง
วันนี้ (18 ส.ค.66) รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า เสียงของ สส.ที่จะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเกือบจะเพียงพอแล้ว แต่เสียงของ สว.จะมาสนับสนุนหรือไม่ยังไม่มั่นใจ แม้หลายคนจะประเมินว่า มีพรรค 2 ลุงอาจจะได้เสียง สว.มาเพิ่มแต่ก็ไม่มั่นใจ เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยก็ยังมีเงื่อนไขกรณีที่นายชูวิทย์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตนักการเมืองออกมาเปิดโปง อีกทั้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ห้ามเสนอชื่อซ้ำก็เป็นการปิดโอกาสพรรคเพื่อไทยให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้เพียง 1 ชื่อ 1 ครั้งเท่านั้น
แคนดิเดตนายกฯ ที่มีอยู่ 9 คนสามารถใช้งานได้เพียง 4 คนคือนายเศรษฐา ทวีสิน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหากนายเศรษฐา ไม่ผ่าน โอกาสของนางสาวแพทองธาร ไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่เสนอชื่อในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ ดังนั้นโอกาสที่ตำแหน่งนายกฯ จะไหลไปที่ขั้วอำนาจเดิมอย่าง นายอนุทิน หรือ พล.อ.ประวิตร ย่อมเกิดขึ้นได้
สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยต้องเผชิญในการประสานงานกับพรรคร่วมเดิม 188 เสียงคือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำ เพราะต้องยอมรับทุกเงื่อนไขการต่อรองเก้าอี้คณะรัฐมนตรี การเมืองในมิติของ สว.และการเมืองจาก 8 พรรคร่วมเดิม โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่ยืนยันไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย จึงยังไม่มั่นใจว่า การโหวตนายกฯ วันที่ 22 ส.ค. นี้จะมีนายกฯ ชื่อ “เศรษฐา” หรือไม่
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การโหวตนายกฯ ในวันดังกล่าว อาจจะมีเกมการเมืองจนนำไปสู่การที่ประธานรัฐสภาสั่งปิดการประชุม การเดินหน้าของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้อยู่ในสภาวะ “ตอบโจทย์ถูกแต่ตั้งโจทย์ผิด” ตอบโจทย์ถูกที่ไปสู่การตั้งรัฐบาล แต่ตั้งโจทย์ผิดคือมีความล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องทำโจทย์ตรงนี้ก่อน แต่เมื่อเลยจุดนั้นมาแล้ว แม้ว่า พรรค 2 ลุงจะเป็นฝ่ายเสนอตัวมาก่อน หรือเสนอตัวมา “โดยตีเช็คเปล่า” แต่ไม่เชื่อว่ามีจริง เพราะในการเมืองมีแต่ “การตีเช็คโดยไม่บอกตัวเลข”
หากพรรค 2 ลุงมาด้วยความจริงใจโอกาสที่เราจะได้เห็นเสียง สว.อย่างน้อย 100 เสียง ทำให้ตัวเลขที่มีอยู่ขณะนี้คือ 315 รวมกับ สว.จะได้ 415 เสียง เกินกว่า 376 แต่ถ้าหากพรรค 2 ลุงไม่ได้มาอย่างใจจริง สุดท้ายเสียง สส.อาจจะเกิน 250 แต่เสียง สว.ไม่มาตามนัด กระบวนการที่บิดเบี้ยวทุกอย่างหลังการเลือกตั้งมาจนถึงวันนี้เดินหน้ามาในลักษณะแค่อีกก้าวเดียวก็ถึง พล.อ.ประวิตร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประวิตรจะไม่อยู่ในสมการทางการเมืองต่อไป และต้องยอมรับว่าความล่าช้าของการตั้งรัฐบาลส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางการเมือง และเศรษฐกิจ
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า มี 4 เงื่อนไขที่ต้องรักษาสมดุลในการตั้งรัฐบาล ได้แก่
1.เสียงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
2.การประกาศวางมือทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยประกาศมาก่อน กระบวนการทางการเมืองคงพูดคุยกันมาในระดับหนึ่ง
3.การกลับบ้านของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมตั้งรัฐบาล
4.ความคาดหวังทางการเมืองของประชาชนที่เกิดขึ้นจริง ไม่อย่างนั้นจะเกิดม็อบที่แม้ว่าจะโดนครหาว่า จุดไม่ติด แต่เมื่อสถานการณ์มันสุกงอมจะเห็นม็อบขยายตัวมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ว่าการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นการปรองดองสมานฉันท์ เชื่อว่าคือ “โฆษณาชวนเชื่อ”