‘สมชาย’ จี้ ‘เพื่อไทย’ ขอความชัดเจนส่งใครเป็นแคนดิเดตฯ
พร้อมระบุ ควรมาตอบข้อซักถามต่อที่ประชุม ยัน ‘รทสช-พปชร.’ ร่วมรัฐบาลไม่เกี่ยวกับเสียง สว. เพราะทุกคนมีเอกสิทธิ์คิดเองได้ ชี้ ‘ก้าวไกล’ ไม่ควรเสนอทบทวนมติซ้ำ
วันนี้ (18 ส.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายที่สภาผู้แทนราษฎร ว่า ในการประชุมรัฐสภา เพื่อเปิดเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 ส.ค.นี้ วุฒิสภาได้เวลาอภิปราย 2 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับการโหวตให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ซึ่ง สว. ก็จะใช้เวลานี้ ในการอภิปรายทุกเรื่องของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ ตนเองได้ให้พรรคเพื่อไทยสรุปว่าจะเสนอชื่อใคร แต่พรรคเพื่อไทยยังพูดไม่ชัดเจน บอกว่า จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 ส.ค. เบื้องต้นตอนนี้ยังเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ตนเองเลยบอกว่า ที่ผมได้ยินเป็นชื่ออื่น จึงมองว่าพรรคเพื่อไทยควรทำเรื่องนี้ให้ละเอียดและชัดเจน
ส่วนความเห็นของ สว. ในการให้ความเห็นชอบนายเศรษฐานั้น นายสมชาย กล่าวว่า สว. เสียงแตกเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคนอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐประกาศร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยนั้น นายสมชาย ระบุว่า สว. มีอิสระอยู่แล้วทุกคน ทุกคนจะต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกเสนอชื่อ พร้อมปฏิเสธแนวคิดที่ สว.ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาเพื่อได้เสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไป
นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีใครคิดไปไกลขนาดนั้น แม้นายเศรษฐาไม่ได้รับความเห็นชอบพรรคเพื่อไทยก็ยังมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่น และคงไม่ไปถึงขั้นเสนอชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ ของภูมิใจไทย ยืนยันว่า สว. ทำหน้าที่ของตนเองตามปกติ และอยากให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ และตอบข้อซักถามของสมาชิก หากไม่มาก็ควรมีการแถลงอย่างเป็นทางการ แต่ถ้ามาก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของนายเศรษฐาเอง
ในที่ประชุมวันนี้ประธานได้แจ้งว่าไม่มีในข้อบังคับ ว่าจะต้องให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อมาแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา แต่หากมีสมาชิกซักถามผู้ที่ถูกซักถามก็สามารถ ลุกขึ้นอภิปรายได้ จึงถือเป็นข้อดีถ้าเจ้าตัวมา แต่หากไม่มา กมธ. ของ สว. ก็สามารถซักถามไปยังผู้ที่ถูกเสนอชื่อได้ทุกคนเช่นเดียวกัน
“วันนี้ต้องเอาให้ชัดเจนเพราะการตั้งรัฐบาล อ้างว่าเป็นการสลายขั้ว ซึ่ง สว. ไม่ได้ขัดข้องอะไร ยิ่งตอนนี้พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดในการผลักดันเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สว. บางส่วนสงสัยว่าทำไมต้องล้มรัฐธรรมนูญ ทำไมถึงไม่ใช้วิธีการแก้ไขฉบับเดิมที่มีอยู่ เพราะการยกร่างฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติถึง 3 ครั้ง ใช้เงินเกือบ 4,000 ล้านบาท และต้องเข้าใจว่า สว. ก็มาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหนก็เสนอแก้ไขจะดีกว่า แต่เรื่องนี้จะส่งผลให้ สว. ไม่ให้ความเห็นชอบนายเศรษฐาหรือไม่นั้นก็ไม่ทราบ แต่ส่วนตัวกังวลเรื่องนี้” นายสมชาย กล่าว
นอกจากนี้ นายสมชาย กล่าวว่า นายรังสิมันต์ โรม ได้ขอหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อขอให้พิจารณาญัตติ ทบทวนมติเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งประธานรัฐสภายินดีที่จะเปิดโอกาสให้นายรังสิมันต์ เสนอญัตติดังกล่าวได้ แต่ส่วนตัวหากมีการเสนอจริง ก็ขอคัดค้าน เพราะมองว่าญัตติดังกล่าวประธานได้ใช้อำนาจในการชี้ขาดไปแล้ว อีกทั้งเมื่อมีมติไปแล้วก็ไม่ควรนำกลับมาทบทวนใหม่ มิฉะนั้นก็จะทำอย่างนี้ไปได้เรื่อย ๆ
ส่วนการโหวตเห็นชอบนายเศรษฐา นายสมชาย กล่าวว่า ตนเองไม่ได้บอกว่าจะโหวต หรือไม่โหวตให้ ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบตามปกติ ความประพฤติพฤติกรรม จริยธรรม เหมือนกับองค์กรอิสระ ถ้าไม่มีปัญหาเราก็โหวตให้ และองค์ประกอบของนโยบายร่วมของทุกพรรค นำพาประเทศไปได้เราก็เห็นด้วย นำพาประเทศไม่ได้เราก็ไม่เห็นด้วย ส่วนความเหมาะสมของนายเศรษฐานั้น ขอไม่วิพากษ์เป็นรายบุคคล เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับตัวนายเศรษฐา
เมื่อถามว่ามีเสียงวิพากวิจารณ์ว่าหากครั้งนี้ สว. ไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สว. จะกลายเป็นอุปสรรค ต่อการเดินหน้าประเทศหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า เป็นวาทกรรมที่ถูกกล่าวหาอยู่แล้ว สส. ยังเคยจัดตั้งรัฐบาล 377 เสียง สมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พอจัดไม่ได้ก็มาอยู่ที่ สว. ตนเองคิดว่าไม่มีปัญหา เพราะ สว. ก็ชัดเจนตรงไปตรงมา และไม่ได้กังวลถ้าใครเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีเราก็โหวตให้ทุกคนต้องลุกขึ้นขานชื่อให้ประชาชนรับทราบอยู่แล้ว ไม่มีวัตถุประสงค์จะไปขัดขวางใคร