POLITICS

‘ฝ่ายค้าน’ จัดหนักจ่ออภิปรายนายกฯ 30 ชม. แย้มมีข้อมูลใหม่ ทุจริต-ผิดจริยธรรม

‘ฝ่ายค้าน’ จัดหนักจ่ออภิปรายนายกฯ 30 ชั่วโมง ‘เพื่อไทย’ แย้มมีข้อมูลใหม่ ข้อหาทุจริต-ผิดจริยธรรม ชวนประชาชนมีส่วนร่วมลงมติผ่าน Line OA หวัง ส.ส.รัฐบาลฟังเสียงสะท้อนนอกสภาฯ

วันนี้ (18 ก.ค. 65) พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสารงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน และ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงความพร้อมก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค. 65

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ยุติหรือหยุดยั้งการบริหารราชการแผ่นดินของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เราเสนอชื่ออีก 10 คน ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นมาตรการที่หนักที่สุดของการตรวจสอบผ่านระบบรัฐสภา ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สำหรับยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” นพ.ชลน่าน ให้เหตุผลที่ใช้คำนี้เพราะ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมเข้าสู่อำนาจ และต้องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งไม่ใช่จากสภาประชาชน แต่เกิดจากการนำเอาบรรดา ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลมาค้ำจุนให้อยู่ในอำนาจ ใช้วิธีการบิดเบี้ยวให้อยู่ในอำนาจ ใช้อำนาจทางการเงินจนได้รับสถาปนาว่าเป็น “สภาฯ กินกล้วย”

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นั่งร้านจึงจำเป็นต้องถูกชี้ให้เห็นว่าเป็นพิษภัยทำให้พี่น้องประชาชนทนทุกข์ทรมานลำบากจากการบริหารราชการของพลเอก ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี กว่า 8 ปี จึงเป็นเหตุที่ทำให้พวกเราต้องทำหน้าที่นี้ จากการเรียกร้องและบอกกล่าวของพี่น้องประชาชน จึงต้องเด็ดหัวออกให้ได้ และเอานั่งร้านออกจากการบริหารราชการแผ่นดิน

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงคะแนนเสียงในสภาฯ ว่า จริงอยู่การลงมติเป็นระบบเสียงข้างมาก มือในสภาฯ ยากมากที่เราจะเอาชนะได้ เว้นแต่มีเหตุการณ์หรือมิ่งที่จะบอกกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาฯ ได้ว่า ข้อเท็จจริงและหลักฐานสามารถพิสูจน์ได้ พี่น้องประชาชนเห็นว่าควรจะลงมติไม่ไว้วางใจ อาจเป็นแรงกระเพื่อมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ใช่พรรคร่วมใ่ายร้าน หันมาลงมติไม่ไว้วางใจได้

“พรรคเพื่อไทยเตรียมความพร้อม เตรียมข้อมูล เตรียมหลักฐาน บอกกล่าวต่อประชาชน ฝากผ่านประธานสภาฯ ไปถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแฉพฤติการณ์และพฤติกรรม ที่ผิดพลาด บกพร่อง ล้มเหลว ที่รัฐบาลทำกับประเทศชาติบ้านเมือง ส่อทุจริต ใช้งบประมาณแผ่นดินไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง มั่นใจว่าสมาชิกจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความสนใจเราหลังจากแพร่ภาพโปสเตอร์ และคลิปวิดีโอไป เราจะไม่ทำให้พี่น้องผิดหวัง ฝากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนช่วยติดตามตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย

นายประเสริฐ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อสารถึงประชาชน ต่อการอภิปรายฯ ครั้งนี้ ได้แก่

  1. พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เราจึงจะชี้ให้เห็นถึงเครือข่ายประยุทธ์ที่เอื้อประโยชน์และทุจริตคอรัปชั่น โดยไม่สนใจความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะช่วงปลายสมัย พรรคร่วมรัฐบาลต่างกอบโกยผลประโยชน์ไม่สนใจประชาชน หวังเป็นทุนสะสมสำหรับการเลือกตั้งต่อไป
  2. พรรคเพื่อไทยมั่นใจในหลักฐานที่จะนำไปสู่ผู้ประพฤติทุจริตและเกี่ยวข้อง หลังอภิปรายเสร็จจะยื่นหลักฐานกับ ป.ป.ช. ไม่ละเว้นแม้แต่คนเดียว จึงขอเชิญพี่น้องร่วมติดตามการอภิปรายครั้งนี้ และขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน
  3. พรรคเพื่อไทยจะขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของรัฐบาล ร่วมกับพรรคเพื่อไทย ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมทาง Line OA @pheuthai หรือสแกนคิวอาร์โค้ดจากภาพ โดยมีทั้งเมนูการลงมติ เมนูเสียงประชาชน เมนูร่วมคิดนโยบายกับเพื่อไทย

นายสุทิน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการอภิปรายว่า คณะทำงานของพรรคร่วมได้ทำงานกันมาหลายเดือน วันนี้ถือว่ามีความพร้อมอย่างสมบูรณ์ จัดเวลา เนื้อหา และบุคคลอย่างลงตัว

วันที่ 19 ก.ค. หรือวันแรก การอภิปรายจะเริ่มเวลา 08:30 น. ด้วยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะอ่านญัตติเป็นเวลาร่วมชั่วโมงเศษ จากนั้นจะเข้าสู่การอภิปรายรัฐมนตรีรายบุคคล ได้แก่

  1. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
  2. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
  3. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ
  4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  5. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ส่วนวันที่ 20 ก.ค. หรือวันที่สอง ประกอบด้วย

  1. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  2. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  3. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  4. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี
  5. พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ก่อนจะควบ 3 ป. ปิดท้ายด้วย

  1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าอภิปรายนายกรัฐมนตรีคนเดียวจะใช้เวลา 30 ชั่วโมง

นายสุทิน กล่าวย้ำว่า เชื่อว่าจะจบได้ทันเวลา 4 วัน หากรัฐมนตรีต้องการตอบชี้แจงหลังเวลา 00:30 น. เราก็ให้ โดยยืนยันว่าฝ่ายค้านใช้เวลา 45 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และประธานใช้เวลา 18 ชั่วโมง ก่อนลงมติในเช้าวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. เวลา 10:00 น.

“ฝ่ายค้านทุกพรรคเตรียมตัวและรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักอภิปรายรัฐมนตรีไป เราทำงานกันด้วยความลงตัวและประสานงานกันได้ดีมาก จึงมั่นใจว่าการทำงานจะราบรื่นดี” นายสุทิน กล่าว

นายสุทิน ชี้แจงผู้อภิปรายจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ แก่ เพื่อไทย 27 คน ก้าวไกล 14 คน ประชาชาติ 3 คน เสรีรวมไทย 2 คน เพื่อชาติ 2 คน พลังปวงชนไทย 1 คน และไทยศรีวิไลย์ 1 คน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อกำหนดเวลาอภิปรายนายกฯ ถึง 30 ชั่วโมง จะใฝเป็นการใช้ข้อมูลเก่าหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยสรุป มีทั้งข้อหาความผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อหาส่อทุจริตเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และข้อหาจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมาตรฐานจริยธรรม

“หลายข้อหาเป็นผลสืบเนื่อง ก็ต้องมีข้อมูลทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน ข้อมูลเก่าก็เป็นสารตั้งต้น และข้อมูลใหม่ก็เติมเต็มเข้าไป แต่ส่วนเรื่องจงใจฝ่าฝืนกฎหมายและเอื้อประโยชน์ทุจริตส่วนใหญ่เป็นข้อมูลใหม่ด้วย” นพ.ชลน่าน กล่าว

ส่วนกรณี ส.ส. งูเห่า ในพรรคเพื่อไทย ที่โหวตสวนมติมาก่อนหน้านี้นั้น จะมีการลงโทษก่อนหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า เขายังเป็นสมาชิกและ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย ย่อมมีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวนโยบายของพรรค โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเรื่องเข้มข้น ส่วนผลการลงมติเป็นอย่างไรต้องดูในรายละเอียด เขาอาจกลับใจ เปลี่ยนแปลงแนวทางการลงมติที่ผ่านมาก็เป็นไปได้ หรือผสมผสานอะไรก็แล้วแต่ต้องดูข้อเท็จจริงต่อไป คณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรคก็มีบทบาทดำเนินการอยู่แล้ว ในการสอบสวนข้อเท็จจริงตั้งแต่การโหวตสวนมติครั้งก่อน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ

Related Posts

Send this to a friend