กทม. พร้อม 100% จัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ – ส.ก. ห่วงคนกรุงฯ ใช้สิทธิน้อย คาดรู้ผลไม่เป็นทางการ 4 ทุ่ม
วันนี้ (18 พ.ค.65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความพร้อมการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครว่า ขณะนี้มีความพร้อมตามแผนงาน 100% โดยวันที่ 21 พ.ค.65 จะเชิญประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) มาประชุมที่สำนักงานเขตเพื่ออบรมครั้งสุดท้าย พร้อมตรวจอุปกรณ์การเลือกตั้ง นับจำนวนบัตรเลือกตั้ง และตรวจดูตำหนิของบัตร ก่อนมารับจริงในวันที่ 22 พ.ค.65 เวลา 05.00 น. โดยปัจจุบันได้รับรายงานว่า บัตรเลือกตั้งได้ทำตำหนิบัตร เพื่อป้องกันการปลอมแปลงเรียบร้อยแล้ว และจะถูกเก็บรักษาไว้ที่สำนักงานเขตภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัย
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 4,400,000 เสียง เป็นผู้มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม. 4,400,930 เสียง และผู้มีสิทธิเลือก ส.ก. 4,390,000 เสียง ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,530 คน ที่ย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเก่าไม่ครบหนึ่งปี ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อกับ กกต.เพื่อให้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก.แล้วประมาณ 2,000 คน ส่วนบุคคลที่ไม่ได้เพิ่มชื่อกับ กกต.ภายในวันที่ 11 พ.ค.65 อีกประมาณ 42,000 คน จะถือว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ทั้งนี้สามารถตรวจสอบสิทธิการเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์สำนักบริการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ดังนั้นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ต้องละเอียด รอบคอบในการแจกบัตรเลือกตั้ง และการขานคะแนน เพราะหากผลคะแนนกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน ตามกฎหมายการเลือกตั้งจะไม่สามารนับคะแนนใหม่ได้ ต้องปิดหีบทันที และเขียนรายงานเพื่อให้ กกต.วินิจฉัยว่าจะนับคะแนนใหม่ หรือจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งอาจทำให้หน่วยเลือกตั้งทั้ง 6,800 หน่วยของ กทม.ไม่สามารถประกาศผลได้
ทั้งนี้ กทม.ได้ระดมข้าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัครกว่า 160,000 คน เพื่อดำเนินการเลือกตั้ง กทม.ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ โดยแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะแบ่งเจ้าหน้าที่เป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 9 คน ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทั้งหมด เช่น ลงชื่อในบัญชีรายชื่อเลือกตั้ง แจกบัตรเลือกตั้ง สังเกตการณ์ และเฝ้าหีบ 2.เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการชิงบัตร ฉีกบัตร รวมทั้งรักษาบัตรเลือกตั้งจากสำนักงานเขตไปยังหน่วยเลือกตั้ง 3.อาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอุณหภูมิสูงกว่า หรือเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็จะจัดให้เลือกตั้งในคูหาพิเศษ
ส่วนกระบวนการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งหลังเวลา 17.00 น.ประธานกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะประกาศปิดลงคะแนน และเตรียมนับคะแนน โดยแบ่งออกเป็น 2 ป้าย ป้ายหนึ่งสำหรับนับคะแนนผู้ว่าฯ กทม. อีกป้ายหนึ่งสำหรับนับคะแนน ส.ก. คาดว่าจะใช้เวลานับราว 2 ชั่วโมง จากนั้นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจะส่งคะแนนไปยังสำนักงานเขตเพื่อประมวลคะแนน และส่งผลคะแนนไปที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง หากไม่มีอะไรผิดพลาดจะทราบผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการภายใน 22.00 น.ของวันดังกล่าว
นายขจิต กล่าวว่า เป็นเรื่องยากมากที่ผลคะแนนผู้ว่าฯ กทม.จะเท่ากัน หากคะแนนเท่ากันต้องเสนอให้ กกต.พิจารณาแนวทางต่อไป เพราะ กทม.มีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้งและรวบรวมคะแนน ส่วนการประกาศผลเป็นหน้าที่ของ กกต. ขณะที่ผู้สมัครที่เสียชีวิต หรือถูกเพิกถอนสิทธิในวันเลือกตั้งจะมีการติดป้ายประกาศแจ้งเตือนแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
“อยากเชิญชวนให้คน กทม.ออกมาใช้สิทธิ เสียงของทุกท่านเป็นเสียงสำคัญที่จะเลือกผู้ว่าฯ ที่มีความสามารถ เข้ามาทำให้เมืองหลวงร่มเย็น ปราศจากโรค การศึกษาดี การจราจรดี น้ำไม่ท่วม เพราะทุกเรื่องขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ที่ต้องประสานทบวงกรมต่าง ๆ ขอให้เลือกคนเก่ง คนดีเข้ามาบริหารกรุงเทพฯ”