‘ธีระชัย’ ยก 3 ข้ออุปสรรค นโยบายดิจิทัล 1 หมื่น “เพื่อไทย” เชื่อทำจริงไม่ได้
วันนี้ (18 เม.ย. 66) เวลา 14:00 น. ที่พรรคพลังประชารัฐ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่ปรึกษาคณะกรรมการนโยบายพรรค แถลงข่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทของพรรคเพื่อไทย จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ โดยระบุว่า ที่ออกมาพูดนั้นเป็นจุดยืนส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายของพรรค พลังประชารัฐ
โดยโครงการดังกล่าว มีคนสนใจจำนวนมาก ตนเองจึงได้ดูในรายละเอียดแล้วมีความเห็นว่า เป็นโครงการที่มีอุปสรรคอยู่หลายประการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้จริง ซึ่งมีปัญหาที่คิดว่าจำเป็นจะต้องพิจารณา และต้องแก้ไขปรับปรุง 3 ประการ ได้แก่
1.โครงการออกแบบให้ส่งเหรียญเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัล โดยระบุว่าเป็นแนวคิดเหมือนกันกับการใช้คูปอง ให้ประชาชนนำไปใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ ลักษณะอย่างนั้นเป็นการใช้รอบเดียว แต่แนวทางในการออกแบบเหรียญดิจิทัลเพื่อไทยนั้น เป็นเหรียญที่สามารถนำมาใช้วน ชำระหนี้ระหว่างประชาชนด้วยกันได้ ดังนั้นในความเห็นตนเห็นว่าลักษณะดังกล่าว เป็นการออกเงินตราอย่างหนึ่ง เมื่อมีสภาพเป็นเงินตรา จะเข้าข้อบังคับของ พ.รบ.เงินตรา พ.ศ.2501 ประเด็นนี้อาจจะเป็นอุปสรรค จึงคิดว่าควรจะต้องศึกษาเพื่อจะหาทางออกให้เรียบร้อยก่อน ส่วนในแง่กฎหมายนั้น ระบุไว้ว่าการออกอะไรที่เป็นเงินตรา ผู้ออกสามารถขออนุญาต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เห็นว่า รมว.คลังที่จะอนุญาตให้เอกชนรายใดรายหนึ่งอนุมัติสิ่งที่เป็นลักษณะเงินตรานั้นทำไม่ได้ เพราะ พ.รบ.ธนาคารแห่งประเทศที่บัญญัติให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์เดียวที่มีอำนาจในการออกเงินตรา จึงอยากแนะนำให้ไปศึกษาหาทางแก้ไขไว้ก่อน
2 .เหรียญดิจิทัลออกแบบให้เป็นบล็อกเชน โดยมีการเก็บข้อมูลในการใช้จ่ายของผู้ใช้ จำนวนมากถึง 54 ล้านคนโดยที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญานตจากเจ้าของข้อมูลก่อน และถ้าเปิดให้เอกชนรายใดรายหนึ่งสามารถล้วงลึกเข้าไปในข้อมูลของการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน 54 ล้านคนได้ จะเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าในการตลาด มีความเสี่ยงที่จะรั่วไหล และถ้าเกิดรั่วไหลขึ้นมาจะเป็นอันตรายต่อประชาชน
3.ในรัฐบาลหน้าถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับประเทศไทย เพราะขณะนี้มีแนวโน้มในการดำเนินการในระดับสากลที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจดิจิทัล ฉะนั้น รัฐบาลหน้าจำเป็นต้องรับมือหลายประการ ตัวอย่าง เมื่อไม่กี่วันเป็นครั้งแรกที่กองทุนระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศจัดตั้งเหรียญดิจิทัลขึ้นมา ให้มีการแลกเปลี่ยนกันข้ามพรมแดน ในขณะที่การค้าของประเทศไทยจะต้องมีการค้าขายที่สัมพันธ์กับจีนมากขึ้นในอนาคต บทบาทที่ไทยต้องคำนึงถึง คือ เงินดิจิทัลหยวนของจีนที่จะใช้อำนวยความสะดวกในการค้าขายระหว่างไทยกับจีน จึงต้องคิด และวางแผน
อีกทั้งเวลานี้โลกแบ่งเป็นสองค่าย คือ ค่ายตะวันตก และค่ายบริกส์ ที่มีบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ ค่ายบริกส์ศึกษาทำเงินดิจทัลเพื่อจะหลีกออกไปจากสกุลดอลลาร์ ไทยจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนในการทำเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อรับมือการวางแผนตรงนี้ ซึ่งตนดูแล้วไม่สามารถวางแผนโดยใช้เหรียญดิจิทัลเพื่อไทยที่ออกโดยเอกชนรายใดรายหนึ่งได้ เพราะการวางแผนรับมือจำเป็นต้องใช้เหรียญดิจิทัลที่ออกโดย ธปท.เท่านั้น เท่าที่ตนดูในเชิงวิชาการ โครงการดิจิทัล 1 หมื่นบาท นับว่ายังมีปัญหาอุปสรรคที่สมควรจะต้องมีการศึกษาและวางแผนแก้ไข
“ประเด็นปัญหาที่ผมชี้ออกมา 3 ข้อ การแก้ไขนั้นไม่ใช่ง่าย ลักษณะการแก้ไขโดยใช้เหรียญดิจิทัลที่ออกมาโดยบริษัทเอกชนเป็นประเด็นในทางกฎหมาย และธรรมาภิบาลอยู่หลายจุด ในความเห็นผมถ้าไม่ดำเนินการป้องกันตั้งแต่ต้นๆ พอเดินแล้วจะสะดุด และเดินไม่ได้ ผมมีข้อกังวลว่าโครงการอันนี้จะปฏิบัติไม่ได้จริง วิธีปฏิบัติได้จริง” นายธีระชัย กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้เสี่ยงจะเกิดความเสียหายเหมือนโครงการรับจำนำข้าวในอดีตหรือไม่ นายธีระชัย กล่าว คงไม่เกิดความเสียหาย เพราะอาจจะไม่เกิดเลย ไม่ได้เดินหน้า เพราะถือเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง จำเป็นต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ย้ำว่าองค์กรเดียวที่มีสิทธิและอำนาจในการออกเงินตราให้กับประเทศมีแค่เฉพาะ ธปท. ถ้าไม่ดัดแปลงจากเอกชนให้เป็น ธปท.ออก จะเดินหน้าได้ยาก ถ้าเดินหน้าไม่ได้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น