‘ธีระชัย’ ติงแนวคิด ‘ทักษิณ’ ซื้อหนี้คืนทั้งประเทศ ทำได้จริง หรือแค่หาเสียง
‘ธีระชัย’ ติงแนวคิด ‘ทักษิณ’ ซื้อหนี้คืนทั้งประเทศ ทำได้จริง หรือแค่วาทกรรมหาเสียง จี้ ‘แบงก์ชาติ-เครดิตบูโร’ แจงให้ชัด การคลังประเทศชาติรับได้หรือไม่
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลกว่า มีแนวคิดจะซื้อหนี้จากประชาชน และลบข้อมูลออกจากเครดิตบูโรเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
นายธีระชัย กล่าวว่า หนี้ของประชาชนขณะนี้มีปัญหาในการผ่อนชำระ และบานปลายไปถึงหนี้นอกระบบ พรรคพลังประชารัฐเคยเสนอแนวคิดให้รัฐบาลในการหาทางแก้ไขมาแล้ว ไม่ใช่การลดดอกเบี้ย แต่ต้องลดเงินต้น แล้วดอกเบี้ยจะลดลงไปโดยอัตโนมัติ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า แนวคิดใหม่เช่นนี้ยังไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน ขอเตือนประชาชนว่า อย่าเพิ่งฟังแล้วเชื่อว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ ต้องแยกแยะให้ชัดว่าเป็นวาทกรรมเพื่อหาคะแนนเสียง หรือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติแล้วเกิดขึ้นได้จริง ไม่อยากจะฟันธง แต่กำลังเรียกร้อง เพราะประเด็นนี้จะเป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจและหนีไม่พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ผมขอให้องค์กรที่สำคัญที่มีความรู้ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย และเครดิตบูโร ออกมาอธิบายกับประชาชนว่า สิ่งที่อดีตนายกทักษิณพูดเป็นเพียงบัลลังก์เมฆฝันที่อยู่ในอากาศ สามารถทำได้จริงหรือไม่ รวมถึงขอให้แบงก์ชาติอธิบายว่า มีประเทศใดในโลกหรือไม่ที่ทำแบบนี้ ถ้าบอกว่าให้บริษัทเอกชนไปดำเนินการ โดยไม่มีรัฐบาลหนุนหลังอยู่ มันเป็นได้ไปได้จริงหรือ แบงค์พาณิชย์จะยอมให้ความเชื่อถือหรือ” นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินการในลักษณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องตอบว่า จะเกิดผลอย่างไรต่อระบบการเงินและระบบธนาคาร ความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต่อระบบธนาคารของประเทศไทย ถ้าสมมุติว่าการดำเนินการแบบนี้ไม่ได้ใช้เงินธรรมดา แต่เดาว่าให้บริษัทเอกชนมาออกเงินดิจิทัล ถามว่าถ้าไม่มีนายทักษิณหนุนหลังบริษัทเอกชน เงินที่ออกมาจะเชื่อถือได้ขนาดไหน จะมีทองคำหรือดอลล่าร์อยู่หรือไม่
“ลักษณะการเงินแบบนี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเก็บกำไรและคนที่จะดำเนินการ จะสามารถฉกฉวยหากำไรเป็นกรณีพิเศษได้หรือไม่ อย่างไร และถ้าปรากฏว่าเงินดิจิทัลที่ออกเป็นบริษัทที่ดำเนินงานการคำสั่งของการคลัง ก็ต้องถามว่าลักษณะเช่นนี้ จะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะได้อย่างไร จะต้องนับเป็นที่สาธาระตั้งแต่วันที่ออกใช่หรือไม่ และจะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยวินัยทางการเงินการคลังหรือไม่อย่างไร” นายธีระชัย กล่าว