POLITICS

‘นันทนา‘ ชงญัตติชะลอเลือก ’สิริพรรณ-ชาตรี‘ นั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

‘นันทนา‘ ชงญัตติชะลอเลือก ’สิริพรรณ-ชาตรี‘ นั่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอ DSI-กกต.สอบที่มา สว.ให้สิ้นสงสัยก่อน ด้าน ’พลเอกเกรียงไกร‘ ไม่รับญัตติ ชี้ วุฒิสภายังมีอำนาจเต็ม

วันนี้ (18 มี.ค. 68) เวลา 09.38 น.ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่มี พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน 1 ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขอเสนอญัตติด่วนชะลอการลงมติผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถามเพื่อนสมาชิกว่า ณ เวลานี้ทุกท่านหลับสบายดีหรือไม่ มีความกังวลต่อสถานภาพของท่านหรือไม่ ได้ยินเสียงสะท้อนจากโซเชียลที่พูดถึงที่มาของท่านหรือไม่ พวกเขาชื่นชมศรัทธาต่อวิธีการได้มาซึ่งการเป็น สว.หรือไม่ หากเปิดรับความจริงจะพบว่าสังคมกำลังตั้งคำถาม ต่อกระบวนการได้มาของ สว.คณะนี้ ประชาชนสงสัยว่ากระบวนการเลือกกันเองมีความผิดปกติหรือไม่

นอกเหนือจากเรื่องปากท้องของประชาชนแล้ว เรื่องที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ รองจากประกันสังคมคือจะเป็นเรื่องที่มาของ สว.ทำไมถึงไม่พิสูจน์ตนเอง โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ตรวจสอบที่มาของ สว.ทุกคนให้สิ้นสงสัย และเมื่อมีการตรวจสอบว่าที่มาของ สว.สุจริตโปร่งใส การทำหน้าที่ใด ๆ ก็จะสง่างาม

เป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้มีผู้นำเรื่องการเลือก สว.ไม่สุจริตไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีคำร้องขอให้ สว.หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งข้อกล่าวหานี้อาจลุกลามไปถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 113 เรื่องการแทรกแซงครอบงำจากพรรคการเมือง หากเราดึงดันที่จะลงมติเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจส่งผลต่ออนาคตของผู้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะอยู่ในวาระ 7 ปี อาจจะถูกพิจารณาเป็นโมฆะได้ หากพบว่าผู้ลงมติขาดคุณสมบัติ

เพื่อให้การทำหน้าที่ของวุฒิสมาชิกสง่างาม ไม่เป็นจำเลยของสังคม ตนเองจึงขอเสนอญัตติให้วุฒิสมาชิกชะลอการลงมติเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปก่อน จนกว่าการตรวจสอบที่มาของ สว.จนสิ้นสงสัย จึงกลับมาลงมติกันใหม่ ซึ่งจะเป็นการทำหน้าที่อย่างสง่างามไม่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระใด ๆ

ด้ายพลเอกสวัสดิ์ ทัศนา สว.ประท้วงว่าวุฒิสภามีหน้าที่สำคัญคือ การให้คำแนะนำและให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามกฎหมาย การที่มีผู้เสนอญัตติให้ชะลอการพิจารณาออกไป เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอให้มีการปฏิบัติตามระเบียบวาระการประชุมต่อไป

พลเอกเกรียงไกร วินิจฉัยว่าญัตติของนางสาวนันทนา ไม่สามารถปฏิบัติได้ จึงไม่รับเป็นญัตติ เนื่องจากวุฒิสภายังมีอำนาจเต็มในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกประการ ทำให้นางสาวนันทนา กล่าวว่าการวินิจฉัยเช่นนี้จะต้องมีการลงมติ จะดำเนินการตามที่มีผู้เสนอญัตติให้ชะลอการลงมติการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกไปหรือไม่ เพราะตนเองเสนอญัตติและมีผู้รับรองอย่างถูกต้อง

จากนั้น สว.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง อาทิ พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว. ยกรัฐธรรมนูญมาตรา 29 บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาเว้นแต่ได้กระทำผิดกฎหมายขณะนั้นบัญญัติไว้เป็นความผิด และให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ที่เพื่อนวุฒิสภากล่าวอ้างว่า สื่อโซเชียลว่าเรา ศาลใดจะตัดสิน สื่อโซเชียลมีแต่คำชม และคำด่า ดังนั้นที่ประธานวินิจฉัยถูกต้องแล้ว

นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.กล่าวเสริมว่า การที่ประธานวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ต้องทำ อย่าใช้ข้อคิดเห็นมาเป็นบทบัญญัติ โปรดศึกษารัฐธรรมนูญให้ละเอียด พร้อมกับยืนยันว่าทุกคนไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

นางสาวนันทนา จึงประท้วงว่า หากประธานมองว่าญัตติของตนเองไม่เหมาะสม ก็เปิดให้มีการลงมติ ท่านจะกลัวอะไร ประชาชนดูการถ่ายทอดสดอยู่ จะได้บอกว่าท่านยินดีที่จะปัดเรื่องชะลอการลงมติไป ท่านประธานวินิจฉัยก็รับไปเต็ม ๆ แต่ถ้าญัตตินี้เข้าสู่สภาฯ มีการรับรองแล้ว ต้องลงมติว่าจะรับให้ญัตตินี้ดำเนินการต่อไปหรือไม่รับ ชะลอลงมติหรือจะลงมติ ก็ต้องมีการลงมติ แต่ถ้าจะวินิจฉัยเช่นนี้ก็รับผิดชอบคนเดียวก็จะเป็นปัญหาว่าเมื่อญัตตินี้เข้ามาแล้ว สภาฯ ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ปัดตกไปเลยไม่ใช่กติกา หรือข้อบังคับการประชุม ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ แต่วันนี้เหตุไฉนถึงไม่มีการลงมติว่าจะ จะรับญัตตินี้หรือไม่รับ

ทำให้นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. กล่าวถึงหน้าที่ของ สว.ที่จะต้องเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางกฎหมาย แต่วันนี้ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาจากศาลให้เราหยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้ขัดที่จะลงมติ แต่ถ้าจะลงมติตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภามีก็ทำเลย เราจะสร้างบรรทัดฐาน ที่ไม่ได้อยู่อำนาจหน้าที่ สว.ในรัฐธรรมนูญหรือ หากอนาคตตนเองจะเกเร เสนอและขอโหวตโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราจะยอมหรือ สิ่งที่ประธานวินิจฉัยก็ถูกต้องแล้ว

”พวกเราพร้อมจะตรวจสอบแต่มีหน่วยงานไหนเหนือกว่าวุฒิสภาออกคำสั่งมาว่า ให้เราหยุดปฏิบัติหน้าที่ มีสิ่งไหนที่เราดำเนินการผิดตามรัฐธรรมนูญสักข้อหรือไม่“

นางสาวนันทนา จึงขอใช้สิทธิพาดพิงโดยระบุว่า ญัตติของตนเองเป็นคนละเรื่องกับที่บอกว่าไม่มีหน่วยงานใดที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สิ่งที่ตนเองเสนอว่าคือ ขณะนี้สังคมกำลังกำลังมองสมาชิกวุฒิสภาด้วยสายตาที่ไม่ศรัทธาและไม่เชื่อถือ การทำหน้าที่ของเราจะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติ เพราะจะเป็นการไปลงมติให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอยู่ต่อเนื่องไปอีก 7 ปี

ขณะนี้มีผู้ร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากเราบรรจุหรือเห็นชอบผู้ใดผู้หนึ่งในศาลรัฐธรรมนูญมันจะเป็นการทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ของการที่มีผู้ร้องและเราจะไปเห็นชอบผู้ที่ไปทำหน้าที่ในการตรวจสอบพวกเราอีก จึงไม่สง่างาม เราแก้ได้ด้วยการชะลอการลงมติ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้ลงมติแต่ให้ชะลอการลงมติไปก่อน หากจะไม่ชะลอการลงมติเพื่อความสง่างามแห่งสภาฯ นี้ ก็ขอให้ลงมติว่าจะไม่ชะลอและตัดสินใจ อย่าโยนให้ประธานเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนเข้าวาระการพิจารณาเรื่องด่วน พลเอกเกรียงไกร แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน แทนตำแหน่งที่ว่าง ได้แก่ ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อรวมถึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat