POLITICS

‘ณรงเดช’ ติงรัฐบาลใช้ยาแรงแต่ไม่วางแผน แนะแก้ PM2.5 ต้องชัดเจน

นายณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีการสั่งปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี หลังตรวจสอบพบโรงงานเปิดรับอ้อยไฟไหม้ปริมาณมากเกินกำหนด ทำให้รถบรรทุกอ้อยตกค้างกว่า 2,000 คันว่า รัฐบาลพยายามโชว์ว่าใช้ยาแรง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอาจริงกับการแก้ไขปัญหาการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของฝุ่น PM 2.5

อย่างไรก็ตาม​ ปัญหาคือรัฐบาลไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า จึงออกมาตรการรับอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 25% ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งนี้ โดยไม่มีมาตรการอื่น​ ๆ รองรับ สังเกตได้จากการสั่งปิดโรงงานที่ต้องใช้มาตรการจากกฎหมายอื่นของกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการ เช่น เรื่องใบอนุญาต หรือเรื่องค่ามลพิษที่ปล่องควัน แทนที่จะออกประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเอง เมื่อสั่งปิดแล้วจึงไม่มีมาตรการรองรับอ้อยที่ตกค้างที่โรงงานว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ

จากข้อมูลน่าสนใจว่าโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานีเป็น 1 ใน 10 โรงงานน้ำตาลนำร่องตามนโยบายการเฝ้าระวังและป้องปรามการลักลอบเผาอ้อยเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย แต่โรงงานน้ำตาลแห่งนี้กลับมีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ที่สูงมาก​ นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลเป็นอีกปัญหาใหญ่ เช่น มาตรการสนับสนุนการตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันที่เป็นมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เรื่องไปถึงฝ่ายเลขา ครม. ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 แต่ ครม.ยังไม่อนุมัติ

นายณรงเดช​ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ต้นตอ โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและผลกระทบที่จะเกิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตพรรคก้าวไกลมาถึงพรรคประชาชน เสนอให้รัฐบาลทบทวนการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเพื่อสนับสนุนการลดการเผาอ้อย เช่น​ เพิ่มเงินสนับสนุนอ้อยสด หักเงินอ้อยไฟไหม้มากกว่า 30 บาทต่อตัน และจะต้องมีบทกำหนดโทษโรงงานที่ไม่สามารถลดอ้อยไฟไหม้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เช่น มีการถูกปรับลดโควตาน้ำตาล เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกร เจ้าของรถตัดอ้อย และโรงงานน้ำตาล เพื่อให้สามารถลดการเผาอ้อยได้อย่างมีประสิทธิผล โดยไม่กระทบกับรายได้ของเกษตรกร แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่มีการประกาศมาตรการให้ชัดเจนล่วงหน้าจนเกิดปัญหาเช่นนี้​

ทั้งนี้​ แม้ล่าสุดสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจะอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลแห่งนี้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง แต่สิ่งที่ชาวไร่อ้อยต้องการมากสุดคือความชัดเจนเรื่องมาตรการลดการเผาอ้อยและการสนับสนุนอ้อยสดที่รัฐบาลควรจะประกาศให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด รวมถึงเร่งจ่ายเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสดที่รัฐบาลยังค้างจ่ายจากปีการผลิตก่อน​ ๆ​ ให้แก่ชาวไร่อ้อย

Related Posts

Send this to a friend