‘ก้าวไกล’ บุกปศุสัตว์นครปฐมหาข้อเท็จจริง ASF ‘ปศุสัตว์’ เผยตรวจเชิงรุกมากกว่า 4 หมื่นเคสไม่พบเชื้อ
‘ก้าวไกล’ บุกปศุสัตว์นครปฐม หาข้อเท็จจริงโรคระบาด ASF ด้าน ‘ปศุสัตว์’ เผย นครปฐมเฝ้าระวังตั้งแต่ ม.ค.64 ตรวจเชิงรุกมากกว่า 4 หมื่นเคส ‘ไม่พบเชื้อ’ สั่งทำลายหมูกลุ่มเสี่ยงเพียง 5 แห่ง
วันนี้ (18 ม.ค. 65) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พร้อมด้วย น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม และ นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ฟาร์มหมู อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องโรคระบาดหมู ASF
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า อำเภอสามพรานถือเป็นแหล่งเลี้ยงหมูวิถีดั้งเดิมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จากการพูดคุยกับเกษตรกรพบว่า เกษตรกรต้องอยู่กับ ASF มานาน แม้นายกรัฐมนตรีจะระบุว่า หมูที่ตายด้วย ASF มีเพียง 20% แต่เกษตรกรเปิดเผยว่ามีมากกว่า 90% อาจทำให้คนไทยไม่มีหมูบริโภคอีกหลายปี กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องมีคำตอบ
สำหรับวัคซีนป้องกัน ASF ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเร่งวิจัยวัคซีน ทั้ง ๆ ที่ประเทศจีน และยุโรปที่มีการแพร่ระบาดมานานยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนออกมาได้ การให้ความหวังเกษตรกรโดยไม่รอบคอบเช่นนี้ จะทำให้เกษตรกรต้องวิ่งหาวัคซีนเถื่อน
“วัคซีนเถื่อนเป็นตัวเร่งการระบาดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะตัวเชื้อไวรัสยังไม่มีความชัดเจนว่า ส่วนใดของเซลล์ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่เกิดการระบาดได้ การที่รัฐมุ่งพัฒนาวัคศีน อาจเป็นเพียงการลดแรงกดดัน”
ที่ผ่านมาฟาร์มหมูของเกษตรกรเสียหายมาก ต้องขายหมูราคาถูก และประสบกับสภาวะหนี้ การกลับมาเลี้ยงใหม่จึงอาจเป็นไปไม่ได้สำหรับเกษตรกรรายย่อย
ส่วนพรุ่งนี้ (19 ม.ค.65) จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก คาดว่าพรรคฝ่ายค้านจะเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาโรค ASF โดยจะมุ่งตามหาหลักฐานการติดเชื้อจากตัวอย่างซากหมูให้พบ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่ามีโรคระบาดจริง และเป็นก้าวแรกของการแก้ปัญหา ทั้งนี้มองว่าการออกมายอมรับของกรมปศุสัตว์เป็นไป เพราะกระแสสังคมกดดัน เกษตรกรหมดความเชื่อถือแล้ว เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ แถลงว่าพบเชื้อเพียงตัวอย่างเดียว สวนทางกับที่หมูตายในประเทศเป็นล้านตัว จึงขอเรียกร้องให้สถาบันเอกชน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีความกล้าในการรายงานผลที่ตรงไปตรงมา ให้เกษตรกรได้มีความมั่นใจ
จากนั้นนายปดิพัทธ์ เดินทางไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม เพื่อสอบถามและขอข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในจังหวัดนครปฐม โดยนายสมควร ปิยะพงศ์เดชา ปศุสัตว์จังหวัดนครปฐม อธิบายว่า นครปฐมเป็นพื้นที่เฝ้าระวังเชื้อ ASF มาตั้งแต่ช่วง ม.ค. 2564 เนื่องจากมีโรงเชือดอยู่หลายแห่ง และมีการตรวจเชิงรุก 30,000-40,000 ครั้งตลอดปี แต่เพิ่งยืนยันว่ามีโรค ASF ในพื้นที่ตามเอกสารวิชาการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 ม.ค.65) โดยเกษตรกรบางส่วนเลือกทำลายหมูในฟาร์มตัวเองไปก่อนที่กรมปศุสัตว์จะออกคำสั่ง กรณีนี้กรมปศุสัตว์จะไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยให้ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชน
สำหรับพื้นที่นครปฐมได้สั่งทำลายหมูที่เสี่ยงโรค ASF ไป 5 แห่งด้วยกัน อยู่ในพื้นที่้นที่อำเภอเมือง 4 แห่ง และอำเภอสามพราน 1 แห่ง ซึ่งทุกแห่งได้รับเงินเยียวยาแล้วรวมหลักล้านบาท ส่วนวัคซีนรักษาโรคอยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัย ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ อยู่ระหว่างเร่งสำรวจประชากรหมูมีชีวิต หมูติดโรค และหมูที่ยังไม่ติดโรคให้แน่ชัด