POLITICS

วุฒิสภา มีมติ 153 : 24 ยืนกรานร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

วุฒิสภา มีมติ 153 : 24 ยืนกรานร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่อยืดเยื้ออีก 180 วัน ด้าน สว.พันธุ์ใหม่ ชี้ ร่างกฎหมายถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมือง

ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเสียงข้างมาก 153 เสียง ต่อ 24 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ยืนยันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ตามการปรับแก้ของวุฒิสภาก่อนหน้านี้ ในเกณฑ์การออกเสียงประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น หลังสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการปรับแก้ดังกล่าว และยังคงยืนยันหลักการเสียงข้างมากชั้นเดียว จนตั้งกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา และกรรมาธิการร่วมยังคงยืนยันตามการปรับแก้ของวุฒิสภา

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการอภิปรายของ สว.พันธุ์ใหม่ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น

นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดียว ควรใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว พร้อมอ้างตัวอย่างการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหมือนการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กฎหมายเดิมใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ก่อนเปลี่ยนเป็นเสียงข้างมากชั้นเดียว เพราะเสียงข้างมาก 2 ชั้น ถูกรณรงค์ให้คว่ำง่ายมาก เมื่อ คสช.อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ผ่าน มีการแก้ไขกฎหมายกลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เมื่อประชาชนอยากมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนบ้าง กลับไปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น

นางนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าร่างกฎหมายประชามติถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมืองเพื่อยืดการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปจนไม่เห็นอนาคต เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับการปรับแก้ของวุฒิสภาในครั้งนี้ จะต้องใช้เวลาพักร่างกฎหมาย 180 วัน หรือนานไปถึงกลางปี 2568 เป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจหลังมีหัวหน้าพรรคการเมืองให้สัมภาษณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปตามใบสั่งหรือไม่

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าการทำประชามติโดยทั่วไปจะใช้เสียงข้างมากอยู่แล้ว เหตุใดการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องใช้เสียงการทำประชามติแบบเสียงข้างมากสองชั้น หากกลับมาใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว จะสามารถลดความซ้ำซ้อนของการทำประชามติ และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ขณะนี้ประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ฉะนั้น การออกเสียงประชามติแบบเสียงข้างมากชั้นเดียวแทนการใช้เสียงข้างมากสองชั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา เห็นว่าการทำประชามติโดยใช้เสียงข้างมากสองชั้นจะทำให้เกิดปัญหา สะดุดขาไปไม่ถึงเป้าหมาย ในอดีตมีการทำประชามติมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกหลังจากที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 และมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี 2550 และปี 2559 มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 60% ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่านมี 40% อยู่ในมือแล้ว

การทำประชามติในปี 2559 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเห็นชอบ 16 ล้านคน ไม่เห็นชอบ 10 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้สิทธิออกเสียงแบบเสียงข้างมากชั้นเดียว ประชาชนจึงออกมาใช้สิทธิ์ แต่ถ้าใช้เสียงข้างมากแบบสองชั้นก็สามารถชนะได้ทันที หรือมีผู้ใช้สิทธิเพียง 2 ล้านคนการทำประชามติก็ชนะได้แล้ว

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ว่า จะเห็นชอบตามการปรับแก้ของวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งหากไม่เห็นชอบกับการใช้หลักการเสียงข้างมาก 2 ชั้น จะส่งผลให้ต้องพักการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ 180 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก่อนจะนำกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อยืนยันมติของสภาผู้แทนราษฎรในการกลับไปใช้หลักการเสียงข้างมากชั้นเดียว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat