‘ศุภมาส’ ชี้ สางปมพิพาท จุฬาฯ – อุเทนถวาย ต้องคำนึงหลักกฎหมายควบคู่ความรู้สึก
‘ศุภมาส’ ชี้ สางปมพิพาท จุฬาฯ – อุเทนถวาย ต้องคำนึงหลักกฎหมายควบคู่ความรู้สึก เผยอาจพิจารณาข้อเสนอใหม่ หากนำพื้นที่ไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่เชิงพาณิชย์
นางสาวศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย เรื่องการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่ว่า การประชุม เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยเหตุและผล ทุกคนเข้าใจสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งมีข้อเสนอ 2 ทางเลือก โดยเสนอให้ไปศึกษาก่อนว่าข้อเสนอที่เสนอมาเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปจะมีข้อสรุปกันต่อว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
เมื่อถามว่า จุดยืนนักศึกษาอุเทนถวาย ถึงอย่างไรก็ไม่ออกจากพื้นที่ตรงนั้นใช่หรือไม่ นางสาวศุภมาส กล่าวว่า เท่าที่ฟังไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่นักศึกษาอุเทนถวายต้องการภาพที่ชัดเจน โดยบอกว่าเคยมีเหตุการณ์แบบนี้ แต่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นมาหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นครั้งนี้นักศึกษาจึงกลัวว่าจะไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ นักศึกษาต้องการความชัดเจนว่าก่อนที่เขาจะเรียนจบจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือเขาต้องไปอยู่ที่ไหนอย่างไร เขาไม่รู้ว่าในอนาคตบทสรุปจะเป็นอย่างไร ส่วนการไปกำหนดไทม์ไลน์การเจรจา คงไปกำหนดแบบนั้นไม่ได้ เพราะการไปตีกรอบก็เหมือนกับยิ่งไปเพิ่มอารมณ์ความรุนแรง เพียงแต่ขณะนี้ทุกคนอยากได้ข้อยุติที่เร็วที่สุด
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ในวงหารือ มีศิษย์เก่ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ซึ่งมีข้อเสนอว่าเมื่อปัญหายังคาราคาซังแบบนี้ จึงอยากรับฟังจากอุเทนถวายว่าต้องการอะไรบ้าง และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างไรได้บ้าง ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าถ้าอุเทนถวายเห็นภาพชัดว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ที่คืนไปแล้วไม่ได้เอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่เอาไปใช้เป็นสาธารณประโยชน์ อาจจะเป็นข้อเสนอใหม่ที่อุเทนถวายอาจจะพิจารณาได้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวโน้มที่ดี
อย่างไรก็ดี นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวมีมานานแล้ว คงไม่ใช้คำว่าจบ แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ซึ่งยุคนี้ทุกฝ่ายต้องถือเอากฎหมายสูงสุด เพียงแต่ไม่สามารถยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวได้ แต่ต้องยึดหลักความสงบเรียบร้อยและต้องดูแลความรู้สึกของบุคลากรทุกคนในอุเทนถวายด้วย เพราะคงไม่อยากเห็นสถาบันที่ร่ำเรียนมาหายไปในช่วงข้ามคืน ดังนั้น เรื่องความรู้สึกของคนเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้เรื่องของหลักกฎหมาย จึงต้องเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยสมัครใจ และทุกคนเห็นตรงกัน