‘รังสิมันต์’ จี้ ‘ประยุทธ์’ ยุติหน้าที่ 23 ส.ค. อย่าทำตัวอยู่เหนือ รธน.
หากชิงยุบสภาหนี ประชาชนมีสิทธิลงโทษได้ผ่านการเลือกตั้ง ยัน ‘ก้าวไกล’ ไม่รับร่างงบฯ 66
วันนี้ (17 ส.ค. 65) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีจะอยู่เกิน 8 ปีไม่ได้ เมื่อเราดูข้อเท็จจริง ชาวบ้านก็พอจะเข้าใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่มาแล้ว 8 ปีจริงๆ ย้อนไปตั้งแต่ตอนที่โปรดเกล้าฯ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ถ้าจะเป็นต่อเกิน 8 ปี มันก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะที่ประเด็นต่อมา เจตนารมณ์ และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้ร่างมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดในเชิงอำนาจ คำถามคือว่า พลเอก ประยุทธ์ ต้องการผูกขาดอำนาจไว้หรือไม่ ถ้าเราดูจากบริบททั้งหมด จากบทสนทนาของประธานและรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มีความชัดเจนในการตีความว่า พลเอก ประยุทธ์ เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 แน่นอน นั่นหมายความว่า วันที่ 23 ส.ค. 2565 นี้เป็นวันสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดำรงตำแหน่ง
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่านับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หรือจากการเลือกตั้ง 2562 สุดท้าย พลเอก ประยุทธ์ จะอยู่ได้ 10-12 ปี โดยส่วนตัวมีความเห็นว่า ถ้าเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ พลเอก ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และต้องมีกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ พลเอก ประยุทธ์ จะชิงยุบสภาก่อนกำหนดครบ 8 ปี นายรังสิมันต์ กล่าวว่า อาจจะเป็นไปได้ แต่ขอให้รู้เอาไว้ว่า การยุบสภาแล้วนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ประชาชนมีสิทธิจะลงโทษ พลเอก ประยุทธ์ เหมือนกัน ต่อให้มีการยุบสภาเพื่อนำไปสู่การรักษาการระยะยาว แต่ข้อกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งมันต้องกลับไปหาร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมันมีกระบวนการที่จะเดินต่อไป ทุกอย่างมีหนทางของมัน
“ทางเดียวที่เป็นไปได้คือลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าออกมาขัดแย้งต่อประชาชนมากๆ วันนี้สังคมไทยตั้งคำถามว่า ตกลงแล้ว รัฐธรรมนูญอะไรที่บังคับใช้กับคนอื่น แต่กับตัวเองคนที่เป็นผู้ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย นี่คือสิ่งที่รู้สึกว่า พลเอก ประยุทธ์ ทำตัวเหนือรัฐธรรมนูญ” นายรังสิมันต์ กล่าว
ในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายฯ ที่จะถูกพิจารณาวันนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คุยกันในฝ่ายค้านก็ได้มีการแปรญัตติในหลายเรื่องที่จะตัดงบ เพราะในชั้นกรรมาธิการฯ เราไม่สามารถตัดได้ ต้องมาลุ้นห้องประชุมใหญ่ว่าจะเป็นอย่างไร แต่มันก็เป็นไปได้ยาก หากทุกอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ธงหลักของเราคือไม่เห็นด้วย และไม่รับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งถ้าหากมันตกไป กรณีกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอมา ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ แต่มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายค้านจะรวมเสียงข้างมากแล้วคว่ำกฎหมายฉบับนี้