‘ณัฐพงษ์’ ถาม ระบบลงทะเบียนดิจิทัล วอลเล็ต เสร็จทัน 1 ส.ค. หรือไม่ หลัง เพิ่งผ่านการประมูล
‘ณัฐพงษ์’ ถาม ระบบลงทะเบียนดิจิทัล วอลเล็ต เสร็จทัน 1 ส.ค. หรือไม่ หลัง เพิ่งผ่านการประมูล ด้าน ‘จุลพันธ์‘ ลุกแจง แบ่งการลงทะเบียนออกเป็นกลุ่ม ยัน ทำทันแน่นอน
วันนี้ (17 ก.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายว่า ตนเองเตรียมคำถามถึงคณะรัฐมนตรี จำนวน 4 คำถาม ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวกับแหล่งงบประมาณของโครงการดิจิทัล วอลเล็ต โดยตรง แต่เป็นเหตุผลที่เราจะตัดสินใจโหวตรับหลักการหรือไม่ ซึ่งคือการพัฒนาระบบซูเปอร์แอพ และระบบการชำระเงิน
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีโพสต์ลง X ว่าวันที่ 1 ส.ค. ทั้งประชาชนและร้านค้าสามารถลงทะเบียนทั้งประเทศได้ ซึ่งระบบชำระเงินนั้น ยังไม่ได้ผู้รับจ้าง จึงอยากจะถามว่าระบบการลงทะเบียนสำหรับประชาชนนั้นที่จะต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ ดำเนินการพร้อมแล้วตามคำแถลงของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ทำภายใต้โครงการใด ใช้แหล่งงบประมาณใด ใช้บริษัทใดเป็นผู้รับจ้าง ทุกวันนี้เรายังไม่มีความชัดเจนในส่วนนี้ เราเห็นแต่ระบบลงทะเบียนร้านค้า เพราะมีการประกาศลงหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) ในวันที่ 11 ก.ค. ว่าได้ผู้ชนะแล้วคือบริษัท เด็พธเฟิร์สท
สิ่งเมื่อเราไปดูไส้ในของ TOR มีการระบุเงื่อนไขหัวอย่างมากมายมหาศาล ทั้งในส่วนของการออกแบบระบบ เช่น ต้องออกแบบระบบเพื่อรองรับการตรวจสอบข้อมูลและยืนยันข้อมูลร้านค้า รวมไปถึงการออกแบบระบบในส่วนอื่นๆ มากไปกว่านั้นผู้รับจ้างจะต้องรองรับการพัฒนาระบบด้วย ซึ่งต้องพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่นได้ นอกจากนี้ยังระบุชัดเจนว่าระบบจะต้องสามารถรองรับผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 50,000 ผู้ใช้งาน ในช่วงเวลาเดียวกัน ถือเป็นระบบที่ใหญ่มาก สุดท้าย ยังต้องช่วยพัฒนามินิแอพ ที่เป็นการลงทะเบียนร้านค้าเพื่อเข้าสู่ซูเปอร์แอพวนทางลัดด้วย โดยผู้รับจ้างจะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อลงนามในสัญญาแล้ว
“ผมให้อย่างเก่ง สพร.ลงนาม 12 ก.ค. ตามกำหนดเงื่อนไขใน TOR ผู้รับจ้างทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ ทำงาน 9 ชั่วโมงต่อวัน ท่านคิดว่าจนถึง 31 ก.ค. ผู้รับจ้างจะทำงาน ทดสอบระบบ และติดตั้งระบบ จนพร้อมใช้ได้จริงหรือไม่ เพื่อให้วันที่ 1 ส.ค. ระบบสามารถลงทะเบียนร้านค้าได้ตามที่ท่านนายกฯ โพสต์ผ่าน X” นายณัฐพงษ์ กล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า บริษัทเด็พธเฟิร์สท ทำไมกล้ารับความเสี่ยงขนาดนี้ เพราะในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างย่อมระบุว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบ พร้อมถามคำถามที่ 2 ต่อทันทีว่า รัฐบาลในร่วมพัฒนาระบบร่วมกับบริษัทเด็พธเฟิร์สท หลายเดือนแล้ว ใช่หรือไม่ ถ้าใช่จะได้สบายใจว่าไม่ใช่งานลวกงานเผา และเชื่อมั่นว่าบริษัทนี้จะมีความมั่นคง ปลอดภัย และเพียงพอที่จะรองรับผู้ใช้งานมากมายมหาศาลได้
นายณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงระบบการชำระเงินว่า เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลเปิดให้มีการชำระเงินแบบที่สถาบันทางการเงินอื่นๆที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย ซึ่ง สพร. ชี้แจงว่าระบบการชำระเงินว่า TOR ยังไม่เสร็จ จึงอยากจะถามว่า ระบบชำระเงินที่ต้องมีความปลอดภัยมากกว่าด้วย จะทำทันหรือไม่ วันนี้ TOR ยังไม่ออก ยังไม่สามารถบอกสเป็คได้ จึงเป็นลักษณะคล้ายกับที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติตั้งคำถาม การรองรับเหตุไม่คาดฝัน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำได้หรือไหม่ จึงนำมาสู่คำถามที่ 3 ว่า มีการพัฒนาระบบชำระเงินร่วมกับผู้รับจ้างแบบคู่ขนานอยู่ในขณะนี้ใช่หรือไม่ และคำถามที่ 4 ยังยืนยันว่าจะใช้ Blockchain มาจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า เรื่องความพร้อมของระบบในการยืนยันตัวตน มีสองระบบหลักคือระบบยืนยันตัวตน และการยืนยันสิทธิ์ อยู่ในระบบเดียวกันคือทางรัฐ และระบบในการชำระบัญชี คือดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่า ระบบทางรัฐพร้อม ซึ่งมีการพัฒนาระบบมาก่อน และตอนนี้เรียบร้อยแล้ว และสามารถทดลองลงทะเบียนได้เลย แต่ตอนนี้เรายังซ่อนปุ่มการลงทะเบียนไว้ เพื่อตรวจสอบข้อมูลหลังบ้านก่อน โดยจะเรียบร้อยในช่วงสิ้นเดือน
ส่วนมีการพัฒนาระบบ KYC กับบริษัทมาก่อนหรือไม่ ตนเองขอเรียนว่าไม่ได้รู้จักชื่อบริษัท เพราะกระบวนการทำ TOR เป็นหน้าที่ของหน่วยราชการ และการทำร่วมกับเอกชนก่อน คงทำได้ยาก เพราะในกระบวนการคัดสรรก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครจะได้รับงานไป
TOR ของระบบการชำระการแลกเปลี่ยน ยืนยันว่า เสร็จในไตรมาส 4 อย่างแน่นอน และจะทันการใช้ ซึ่งการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นหน่วยงานที่พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของรัฐบาล ก็มีความพร้อมในการเก็บรวบรวมข้อกำหนด แม้จะมีการเปลี่ยนไปบ้าง แต่สุดท้ายก็รวบรวมได้อย่างสมบูรณ์ แล้วจะมีบริษัทรับไปทำการเขียนโปรแกรม ยืนยันว่า เสร็จทันเวลา
ส่วนการทำ Blockchain เป็นการเก็บแบบ decentralized และเมื่อเปรียบเทียบกับ Blockchain ของต่างประเทศ คงไม่ขนาดนั้น แต่เรามีการเก็บข้อมูลโดยการกระจายตัวไปส่วนงานของรัฐให้กระจายอย่างพอเหมาะ และเป็นการเก็บฐานข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า ข้อมูลที่บันทึกอยู่ จะไม่สามารถปรับแก้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เพื่อยืนยันว่า เม็ดเงินทั้งหมดจะโปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกบาท
จากนั้นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ถามต่อว่า บริษัทที่ชนะการประมูล จะสามารถพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จทันภายในสิ้นเดือนนี้ได้จริงหรือไม่
นายจุลพันธ์ ตอบว่า การลงทะเบียนแบ่งกลุ่มการลงทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประชาชนผู้มีสมาร์ทโฟน เริ่มวันที่ 1 ส.ค. กลุ่มสองคือกลุ่มประชาชนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือมีในระบบอนาล็อก และสามกลุ่มร้านค้าจะเปิดลงทะเบียนหลังจากวันที่ 1 ส.ค. เรามีกรอบเวลาเพียงพอ ดังนั้น การปิดลงทะเบียนจึงมีการเหลื่อมกันในแต่ละกลุ่ม