POLITICS

‘จุลพันธ์‘ แจง ดิจิทัล วอลเล็ต เน้นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าร้านค้ารายย่อย เปรียบประเทศไทยเหมือนบ่อที่ขาดน้ำ

วันนี้ (17 ก.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณร่ายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า สินค้าที่ไม่ร่วมโครงการนั้น มีการปรับเพิ่มปรับลดกันตลอด ซึ่งขณะนี้มีการเพิ่มสินค้าต้องห้ามคือ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสาร โดยหลักการนั้น การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปต้องการให้เกิดการจ้างงาน เกิดการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก สินค้าที่โดนตัดออกคือเป็นสินค้าจากการนำเข้า

ส่วนที่มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแก้ไขเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ร่วมโครงการนั้น โดยความยินยอมของคณะอนุกรรมการกำกับนโยบาย เพราะเรามีความยืดหยุ่น ยังมีสินค้าบางประเภทที่ได้รับคำแนะนำมา เราก็รับฟัง เช่น อาวุธปกรณ์ ซึ่งมอบหมายให้ไปศึกษาเพิ่มเติม

ส่วนเรื่องร้านค้ารายใหญ่ หรือร้านเล็กนั้น เราพยายามที่สุดในการกำหนดพื้นที่ในระดับอำเภอ ขนาดร้านค้า ล้วนเป็นกลไกที่ให้เม็ดเงินตกกับรายย่อยมากที่สุด เช่นเดียวกันกับการห้ามซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เงินกระจายตัวไปสู่ร้านค้ารายย่อยมากที่สุด

นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า สิ่งที่เราทำในอดีตมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 1 ล้านร้านค้า และในครั้งนี้ จะสามารถดึงร้านค้าเข้าสู่ระบบได้ไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ล้านร้านค้า โดยให้หน่วยงานท้องถิ่นดูแลเรื่องการลงทะเบียนเข้ามา สำหรับข้อห่วงใยเรื่องร้านค้าส่งจะมีเพียง 50,000 ร้านค้าที่เข้าร่วม ดังนั้น ร้านที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นร้านค้าขนาดเล็ก ต้องเข้าใจว่ากลไกของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่อาจจะไหลไปในร้านค้าขนาดใหญ่ แต่รัฐบาลต้องการให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ การไปดัดโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน ด้วยกลไกโครงสร้างของนโยบายนี้ ไม่สามารถเป็นไปได้ แต่ต้องไปอุดหนุนช่วยเหลือสร้างกลไกให้ร้านค้าขนาดเล็กเพื่อพี่น้องประชาชนมีความเข้มแข็งต่อไป ถึงแม้เงินบางส่วนจะต้องไปใช้ในร้านค้าที่ท่านเป็นห่วง แต่ต้องยอมรับว่าเขาไม่ใช่ผู้ผลิต ซึ่งต้องส่งต่อไปให้ผู้ผลิตต่อไป

ส่วนตัวคูณทางเศรษฐกิจ มีการกำหนดสองรอบในการใช้ดิจิทัล วอลเล็ต โดยเม็ดเงินไม่หายไปไหน และจะเป็นกลไกเคลื่อนหมุนเศรษฐกิจไปหลายรอบ ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนบ่อน้ำที่น้ำไม่พอ ปลาอยู่เยอะเกินไป ก็ตาย อยู่ไม่ได้ เราต้องการเติมน้ำเข้าไปในบ่อให้เพียงพอ เพื่อให้ทุกคนมีอากาศ และอยู่ในระบบเศรษฐกิจร่วมกันได้ และมีเงินใช้เพียงพอ เพื่อเดินหน้าระบบเศรษฐกิจต่อไป

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ข้อมูลที่จะได้ในการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้ากับรัฐนั้นจะง่ายต่อการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อกำหนดนโยบาย เพื่อวิเคราะห์บริหารจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาให้ประชาชนประชาชนอย่างตรงจุด และสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายติดตามผลได้อย่างเหมาะสม

Related Posts

Send this to a friend