‘วิโรจน์’ เปิดนโยบายการศึกษา ชี้ กทม.ต้องรื้อระบบจัดสรรงบ – ลดความเหลื่อมล้ำเด็กก่อนวัยเรียน
‘วิโรจน์’ เปิดนโยบายด้านการศึกษา ชี้ กทม.ต้องรื้อระบบจัดสรรงบ บรรจุครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นลูกจ้างประจำ และวางยุทธศาสตร์ป้องกันโควิด-19 ลดความเหลื่อมล้ำเด็กก่อนวัยเรียน นักวิจัย กสศ.เชื่อ กทม.สามารถพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพเทียบเท่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัด
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล ร่วมลงพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชนศิลปเดช เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดนโยบายการศึกษา ปลดล็อกกรุงเทพเมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.ร่วมกับ สำนักข่าว The Reporters ชวนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่ นำเสนอนโยบายการศึกษา
ครูวนิดา พรรณากรณ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ชุมชนศิลปเดช เปิดเผยว่า ศูนย์แห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2532 โดยคุณแม่ของครูวนิดา ได้มอบที่ดินให้ชุมชนได้ทำเป็นศูนย์เด็กเล็ก ให้เด็กในชุมชนได้มีที่เล่น ที่เรียนหนังสือ ซึ่งเมื่อครั้งเปิดศูนย์มีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาเปิดเมื่อ 33 ปีก่อน คุณครูวนิดา ได้สืบทอดเจตนารมณ์ของพ่อแม่ ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้มาโดยตลอด มีลูกศิษย์มากกว่า 3,000-4,000 คน แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปิดศูนย์ และขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดได้ เพราะเงื่อนไขของทางเขตจอมทอง ต้องให้ผู้ปกครองของเด็กฉีดวัคซีน 3 เข็ม แต่มีปัญหาว่าผู้ปกครองในชุมชนฉีดไม่ครบ จึงยังเปิดไม่ได้ โดยพบว่ามีผู้ปกครอง 5 คน ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม จึงเสียดายโอกาสทางการศึกษาของเด็ก และคาดหวังว่าจะมีช่องทางที่ทำให้ได้กลับมาเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกครั้ง
“ปัญหาใหญ่ในตอนนี้คือ มีผู้ปกครองของเด็กเล็กอย่างน้อย 5 ราย ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ทำให้เด็ก 5 คน ถูกตัดโอกาสทางการศึกษา ไม่สามารถเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ตามข้อบัญญัติของ กทม. “ ครูวนิดา กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีความจำเป็นมากทั้งกับพ่อแม่ และตัวเด็กที่ต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาการ แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ การจ้างครูผู้สอนในฐานะ “ครูอาสาสมัคร” ทำให้ครูขาดความมั่นคงในอาชีพ และ การลดงบประมาณตามจำนวนเด็ก ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านความปลอดภัยติดขัด
นายวิโรจน์ เปิดเผยนโยบายการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่ต้องบรรจุครูให้เป็นลูกจ้างประจำ และต้องทำประชาพิจารณ์ว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กควรอยู่ในสังกัดสำนักพัฒนาชุมชนตามเดิม หรือต้องย้ายไปสังกัดสำนักการศึกษา
“ใครเป็นผู้ว่าฯ ต้องมีช็อกบ้าง หากติดระเบียบกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯแก้ได้ แต่หากติดข้อบัญญัติก็เข้ากลไกสภากรุงเทพมหานคร แต่ที่ผ่านมาข้อบัญญัติที่สร้างปัญหาไม่ถูกแก้ไข สภากรุงเทพมหานครไม่เคยปรับปรุงกลไกเพื่อคนกรุงเทพฯ เลย”
กทม.ต้องรื้อระบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาใหม่ โดยต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอย่างน้อย 1,000 ล้านบาทต่อปี เพราะเมื่อมีจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรม จะทำให้รื้อฝุ่นใต้พรม แก้ไขข้อระเบียบต่าง ๆ ได้
สำหรับการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องเริ่มจากการวางยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขภาพใหญ่ เช่น รณรงค์ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้ได้ 2-3 ล้านเข็ม เพื่อเปิดเมือง การสำรองยาแพกซ์โลวิด ยาเรมเดซิเวียร์สำหรับผู้ตั้งครรภ์ หรือยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ การวางระบบเข้าถึงยารักษา ระบบการจัดหา-ส่งต่อเตียง และจัดหาศูนย์ฟอกไตสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากไม่มีศูนย์เด็กเล็ก พ่อแม่ต้องเสียค่าใช่จ่ายมากขึ้น ต้องฝากลูกไว้ในเนอสเซอรี่ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคน้อยลง กระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากด้วย แต่ที่ผ่านมา กทม.ปิดศูนย์เด็กเล็กแล้วบอกว่า ไม่มีเด็กเล็กติดโควิด-19 เพราะเด็กเล็กติดโควิด-19 นอกศูนย์หมด นอกเหนือความรับผิดชอบของ กทม. จึงขอเรียกว่า “นโยบายเห็นแก่ตัว”
รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน กทม. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เคยศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.จนกลายเป็นต้นแบบของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้สนใจมาศึกษาที่กรุงเทพ พบว่า บริบท ศพด.ของกทม.ตอบโจทย์ ชนชั้นกลางกับชั้นล่าง เพราะมีอาหารกลางวัน มีการดูแลเด็ก ที่ก่อนหน้านี้เป็นศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และได้ถ่ายโอนให้ กมม.ดูแลในปี 2549 มี พ.ร.บ.ถ่ายโอน มาเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เมื่อถ่ายโอนจากศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งพี่เลี้ยงจะจบการศึกษาชั้น ม.3 แต่เมื่อ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในช่วงปฐมวัย ครูจึงอาจมีวุฒิการศึกษาไม่เท่าสถาบันการศึกษาเช่น ร.ร.อนุบาล จนกลายมาเป็นปัญหาเรื่องการจัดค่าตอบแทน ที่ครูพี่เลี้ยงควรจะได้รับโอกาสเท่ากัน โดยปัจจุบันเพิ่มวุฒิการศึกษาเป็น ม.6 แล้ว จึงเห็นด้วยหากนายวิโรจน์ จะมีนโยบายที่จะยกระดับครูพี่เลี้ยงให้เป็นลูกจ้างของ กทม.
“หากครูอาสาสมัครได้บรรจุ จะสร้างขวัญและกำลังใจให้คนทำงาน เพราะระยะหลังระเบียบต่าง ๆ ของ กทม. เริ่มบั่นทอนจิตใจ ครูทุกคนทำเพื่อเด็ก อยากให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่กลับไม่ได้อะไรตอบแทน”
รศ.ดร.สมสิริ ฝากถึงนายวิโรจน์ว่า ผู้ปกครองใน กทม.ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าผู้ปกครองในจังหวัดอื่นถึง 2 เท่า ทั้งที่ กทม.เป็นเมืองหลวงของประเทศ น่าจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม แต่บางเขตกลับไม่มีศูนย์เด็กเล็ก และนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ก็ไม่มีอยู่จริง
“ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน แก้ไม่ได้ภายในพรุ่งนี้ หากเราเห็นแผนระยะยาว-ระยะสั้นจากผู้ว่าฯ จะทำให้อยู่อย่างมีความหวังว่า อาจบรรลุความต้องการได้ในอนาคต” รศดร.สมสิริ กล่าว