เริ่มแล้ว รัฐสภาถกญัตติด่วน ‘สว.-เพื่อไทย‘ ส่งศาลตีความทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ
‘นพ.เปรมศักดิ์‘ เปรียบประชาธิปไตยเหมือนรถไฟทยอยส่งผู้โดยสารถึงบ้านปลอดภัย สุขุมรอบคอบดีกว่าเร่งรีบ ยันไม่แตะหมวด 1-2
วันนี้ (17 มี.ค.68) การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ที่มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน 2 เรื่อง ได้แก่
1.ญัตติด่วน ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ที่มี นพ.เปรมศักดิ์ เพียุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นผู้เสนอ
2.ญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ซึ่งนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
นพ.เปรมศักดิ์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ ลุกขึ้นชี้แจงว่าที่ประชุมเคยพิจารณาญัตตินี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นเป็นการขอเลื่อนญัตติ แต่ไม่ได้อภิปรายเนื้อหาอย่างแจ่มแจ้งเท่าที่ควร โดยวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐสภาได้พิจารณาหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย เพิ่มหมวด 15/1 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวม 2 ฉบับ ซึ่งประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้นำเสนอญัตติระดับหนึ่ง แต่สมาชิกรัฐสภามีความเห็นแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทำให้การประชุมรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 วัน ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของสมาชิกรัฐสภาเป็นอย่างมาก
วันนี้จึงหวังใจว่าสมาชิกรัฐสภาจะร่วมใจกันพิจารณาพิจารณาอย่างถ่องแท้ ญัตติที่ตนเองได้นำเสนอจะมีประโยชน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีอยู่ 16 หมวด 279 มาตรา มีบทบัญญัติหลายประการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ขณะเดียวกันมีบทบัญญัติบางประการที่สมาชิกและองค์กรภายนอกเสนอว่าควรจะแก้ไข
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เคยมีความพยายามหลายครั้งและมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 สาระสำคัญระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่ โดยวิธียกร่างรัฐธรรมนูญเป็นผลให้ยกยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน จึงจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ถ้าผลออกเสียงประชามติเห็นด้วย จึงจะดำเนินการจัดทำรัฐฉบับใหม่ต่อไป เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่า เห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จึงจะประกาศเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการตามคำร้องของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เหตุผลที่ได้วินิจฉัยข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยไว้ก่อนแล้วว่า รัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่จะต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจลงประชามติเสียก่อนว่ามีความประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่า การเสนอแก้ไขต้องมีเหตุผล เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน และกระทบกับการปกครองของประเทศ บางคนถามว่าจะมีรัฐสภาไว้ทำไม หากจะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา เราบัญญัติให้มีองค์กรอิสระคือ ศาลรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยเมื่อมีข้อขัดแย้งขององค์กรต่าง ๆ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะผูกพันไปทุกองค์กร เป็นความเคารพต่ออำนาจซึ่งกันและกัน
“เสมือนหนึ่งเราจะเล่นกีฬาก็ต้องดูกติกาก่อนว่า เขาให้เล่นได้อย่างไร ไม่ดูกติกาไปเล่นไป ในที่สุดก็ต้องแพ้ฟาวล์” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
ดังนั้นจึงเห็นโดยสุจริตใจว่า การที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการลงประชามติเสียก่อน ความเห็นในรายละเอียดจะลงประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง เป็นสิ่งที่ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยต่อไป จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนี้
1.รัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการเพิ่มหมวด 15 /1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีการดำเนินการให้ออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน ได้หรือไม่
2.หากรัฐสภามีอำนาจพิจารณา และลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้แล้ว การจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ สามารถกระทำได้ภายหลังที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยทำพร้อมกับประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้หรือไม่
ทั้งนี้การที่รัฐสภาเลื่อนการประชุมวาระนี้มาในวันนี้ ต้องขอบคุณที่เราจะได้มีโอกาสพิจารณาร่วมกันอย่างถ่องแท้ ประเด็นที่มีคนกล่าวกันว่าถ้าขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะมีเวลารอคอยเท่าใด เราคงไม่มีอำนาจไปกำหนดแทนศาล แต่คำกล่าวที่บอกว่าหากวินิจฉัยช้าจะไม่ทันการเลือกตั้ง 2570 อยากให้พิจารณาดี ๆ เพราะสิ่งที่จะคิดแก้ไขต่อไปไม่ได้กระทบกับการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้ง สส.ได้มีการแก้ไขไปแล้ว เป็นระบบเขตเดียว 400 เขต และระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือกตั้งปี 2566 ก็ใช้บทบัญญัตินี้ในการเลือกตั้ง จนปรากฏท่านสมาชิกที่เข้ามาสู่รัฐสภา
ดังนั้นจึงไม่ควรผูกพันกับการเลือกตั้งในปี 2570 เพราะการเลือกตั้งย่อมเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ จะครบเทอมหรือไม่ครบเทอมก็ไม่มีใครทราบ ทั้งนี้การเร่งรัดที่จะแก้ไขใด ๆ ที่มีกำหนดเวลาย่อมเป็นการไม่สุขุมรอบคอบ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นงานใหญ่ ต้องอาศัยการหลอมรวมความคิดจากทุกฝ่าย
“เปรียบเสมือนประชาธิปไตยเป็นรถไฟ ก็ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง ที่จะต้องพุ่งทะยานให้ถึงเป้าหมายในเวลารวดเร็ว แต่เป็นรถไฟธรรมดาที่จะต้องทยอยส่งผู้โดยสารให้ถึงบ้าน ด้วยความปลอดภัย”
นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่ควรเน้นเร่งรัดเร่งรีบ แต่ควรแก้ไขให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ที่สำคัญจะต้องรักษาเอกลักษณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งหลายคนได้ยินได้ฟังมาตลอดว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ประชาชนรู้สึกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันให้กับประชาชนได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา การแก้ไขจึงต้องคำนึงถึงหลักการที่ประชาชนยอมรับ และต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อยากให้มองเรื่องการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ที่แท้จริงต่อประชาชน ไม่ใช่แก้ไขเพื่อสนองอำนาจทางการเมืองของผู้ใดทั้งสิ้น
ในฐานะสมาชิกรัฐสภา จึงอยากให้เวทีรัฐสภาได้สะท้อนถึงความต้องการของพี่น้องประชาชน ทั้ง สส.จากพรรคการเมืองใดก็ตาม หรือวุฒิสมาชิกจาก 20 สาขาอาชีพได้หลอมรวมพิจารณาด้วยความเห็นที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นชอบว่าจะเดินหน้าไปทันที หรือหากจะให้รอบคอบก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะเดินหน้าต่อไป หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาอีก
นายวิสุทธิ์ กล่าวเสนอญัตติว่า ตามที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนกับคณะ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ … พ.ศ. … ต่อรัฐสภา โดยมีหลักการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และของตนเอวกับคณะ ที่เข้าชื่อเสนอ อันเป็นหลักการเดียวกัน ซึ่งประธานสภาฯ ได้มีคำสั่งให้บรรจุทั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมรัฐสภา และมีการพิจารณาในวาระแรกรับหลักการ วันที่ 13-14 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น
ตนเองและสมาชิกที่มีชื่อท้ายญัตตินี้ เห็นภายหลังว่า เมื่อประธานได้บรรจุแล้ว ปรากฏว่าได้เกิดความขัดแย้งและความเห็นต่างของสมาชิกรัฐสภา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของรัฐสภา โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากยังไม่ได้จัดทำให้มีการออกเสียงประชามติ ว่า ประชาชนประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
จึงได้ออกประกาศว่า การเข้าร่วมประชุมและมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นสนับสนุนความเห็นของฝ่ายตนอย่างกว้างขวาง สมาชิกรัฐสภา เห็นว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาลงมติได้ โดยเห็นว่าการพิจารณาและลงมติครั้งนี้ เพียงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในหมวดที่ 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาได้เห็นชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไปดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ซึ่งถือเป็นการทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน และฝ่ายนี้เห็นว่าสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
เมื่อสมาชิกรัฐสภามีความเห็นขัดแย้งอันเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขข้างต้น จึงทำให้รัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการทำหน้าที่ของรัฐสภา จึงถือเป็นกรณีที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปัญหาดังกล่าว
ดังนั้นตนเองจึงเสนอญัตติด่วนนี้ เพื่อให้รัฐสภาได้มีมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ว่ารัฐสภาจะพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยที่ยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติ ประชาชนประสงค์จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่