กกต.แถลงการแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ทำตามกฎหมายทุกอย่าง ขอสังคมเข้าใจ

กกต. แถลง การแบ่งเขตเลือกตั้ง พื้นที่ กทม. ทำเต็มที่ ตามกฎหมายทุกอย่าง ขอสังคมเข้าใจ พร้อมรับฟังและแก้ไขปัญหา วอน นักการเมือง เป็น ส.ส. ของประชาชนทั้งประเทศ
วันนี้ (17 มี.ค. 66) นายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนางสาวมาณวิภา ทองประเสริฐ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง
นายปกรณ์ ระบุว่า วันนี้มีการจัดประชุมด่วนช่วง 16:00 น. จึงแถลงข่าวเพื่ออยากให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสื่อมวลชน สิ่งที่เป็นข่าวขณะนี้ คือการแบ่งเขตของ กกต. ในพื้นที่ กทม.อาจมีปัญหา แต่ขอยืนยันว่าผู้อำนวยการและทีมงาน กกต. กรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมถึงส่วนกลางที่เกี่ยวข้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่การแบ่งเขตอย่างเต็มความสามารถ ใช้เวลาในการแบ่งอย่างเหมาะสม ซึ่งตอนแรกแบ่งเกือบ 10 รูปแบบ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเสนอ 4 รูปแบบ สิ่งที่มีข้อท้วงติงของนักการเมือง และประชาชน บางครั้งอาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ขอยืนยันว่าทาง กกต. ได้ยึดหลักรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเคร่งครัด ในมาตรา 27 ระบุว่า ให้แบ่งเขตแต่ละต้องเขตติดต่อกัน มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
“สิ่งที่มีปัญหาคือ กทม. ไม่สามารถกำหนดเขตเดียวเป็นเขตเลือกตั้งได้ เพราะค่าเฉลี่ยนประชากรใน 1 เขตต้องมี 1.6 แสนคน แต่เขตปกครอง คือ เขตคลองสามวามีประมาณ 2 แสนคน บางเขน 1.8 แสน ประเวศ และลาดกระบัง 1.8 แสนคน สายไหม 2 แสนกว่าคน บางแค 1.9 แสนคน ซึ่งจะเห็นว่าไม่สามารถเป็นเขตเดียวกันของการแบ่งเขตเลือกตั้งได้ จึงพิจารณาในส่วนต่อมา คือ หากไม่สามารถทำตาม (1) ได้ ให้ดำเนินการตามเขตราษฎรที่ติดต่อกันเป็นชุมชนเดียวกัน ให้มีราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด”
นายปกรณ์ ระบุต่อว่า กกต. พื้นที่ กทม. จึงแบ่งเขตโดยยึดหลักนี้อย่างเคร่งครัด ตามที่มีข่าว เช่น เขต 8 เขต 9 ไม่มีเขตหลัก กฎหมายไม่ได้กำหนดให้มีเขตหลัก แต่เราพยายามให้มีเขตหลัก ซึ่งบางเขตมีจำนวนราษฎรจำนวนมากจึงต้องเอาแขวงใกล้เคียงมารวมกัน
สำหรับ 50 เขตปกครองใน กทม. แบ่งเป็น 33 เขตเลือกตั้ง สิ่งที่อยากให้ทราบคือ ในการแบ่งเราปฏิบัติตามหมด ทุกเขตเป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน ราษฎรไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ แบ่งเขตโดยค่าเฉลี่ยประชากรเป็นสำคัญ คือไม่ควรเกินร้อยละ 10 การแบ่งเช่นนั้นใช้ความพยายามเต็มที่ มีข้อยกเว้น ถ้าไม่ได้ ก็ให้อนุโลมในกรณีที่มีความจำเป็น
“รัฐธรรมนูญมาตรา 114 ให้สภาผู้แทนเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทนของจังหวัด ของเขต เพียงแค่แบ่งให้เลือกตั้งเท่านั้น ท่านมีภาระหน้าที่ มีอำนาจตามกฎหมาย ถ้าเหตุเกิดนอกพื้นที่เขตเลือกตั้งที่รับผิดชอบ ก็ต้องปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของท่านตามรัฐธรรมนูญ ขอให้นักการเมือง ในพื้นที่เขต กทม. คำนึงถึง 33 เขต อย่าพิจารณาเฉพาะบางเขต มิเช่นนั้นจะไม่สามารถทำงานในภาพรวมได้เลย”
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า ตามข่าวที่จะยื่นศาลปกครองให้มีการคุ้มครองชั่วคราวนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ กกต. พร้อมชี้แจงให้ข้อมูล ยินดีชี้แจงต่อศาลด้วยตนเอง และในอนาคตจะต้องดูความเหมาะสม ข้อท้วงติงที่กล่าวมาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถูกต้องหรือสมควรกว่าที่เราทำหรือไม่