พปชร. จี้ ครม. ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน
พปชร. จี้ ครม. ทบทวน ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน ชี้ ตรากฎหมายไม่สามารถบรรลุเป้าได้จริง อาจหวังรวบอำนาจนโยบายการเงินจาก ธปท. กระทบความน่าเชื่อถือ
วันนี้ (17 ก.พ. 68) เวลา 10.00 น. นายอุตตม สาวนายน ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคพลังประชารัฐ และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการวิชาการ ร่วมแถลงคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน
นายอุตตม ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ดำเนินการครบถ้วน รอบคอบ และเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ ธปท. เพิ่งมีหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีแสดงข้อสังเกตต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเนื่องจากกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับระบบการเงินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจกำหนดประเภทธุรกิจ และเกี่ยวเนื่องไปถึงการให้ใบอนุญาต การกำกับดูแลในรูปแบบที่ค่อนข้างเหมารวม
นายอุตตม กล่าวว่า กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเงินได้ เพราะนักลงทุนจะเลือกประเทศที่พร้อมที่สุด เช่น สิงคโปร์ประสบความสำเร็จด้วยนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อธุรกิจ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เหมาะสม พร้อมสิทธิประโยชน์ดึงดูดฟินเทคและกองทุนบริหารสินทรัพย์ กฎระเบียบโปร่งใสภายใต้การกำกับของธนาคารกลางสิงคโปร์ มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแข็งแกร่ง และแรงงานคุณภาพสูง
“หากไทยต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก ต้องสร้างความพร้อมในทุกมิติ ไม่ใช่แค่ออกกฎหมาย แต่รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นรากฐานของความเชื่อมั่น หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและเป็นมาตรฐานสากล และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ทั้งด้านกฎระเบียบ เทคโนโลยี และบุคลากร หากไม่เร่งปฏิรูปไทยอาจไม่ใช่ตัวเลือกของนักลงทุนในเวทีการเงินโลก” นายอุตตม กล่าว
นายธีระชัย เชื่อว่า รัฐบาลรู้ดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยยังขาดสององค์ประกอบสำคัญในการเป็นศูนย์กลางฯ ทั้งด้านกฎหมาย และด้านธรรมาภิบาลในด้านกฎหมาย การเชิญชวนสถาบันการเงินระดับโลกให้เข้ามาในศูนย์กลางฯ เพื่อทำธุรกรรม offshore ระหว่างกันที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน จะเป็นที่สนใจก็ต่อเมื่อศูนย์กลางฯ มีกลไกยุติข้อพิพาทที่รวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากการแทรกแซง ทั้งกลไกอนุญาโตตุลาการและกลไกศาล แต่ระบบกฎหมายของไทยยังไม่สามารถให้ความมั่นใจได้
นอกจากนี้ มีกรณีที่ศาลไทยไม่ยอมรับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ และรัฐบาลไทยเองก็ไม่ยอมรับกลไกอนุญาโตตุลาการ องค์ประกอบนี้จึงเป็นลบในด้านธรรมาภิบาล ดัชนีคอร์รัปชัน Corruption Perception Index ปี 2024 ของไทยก็ต่ำอยู่เพียงอันดับ 107 จาก 180 ประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่สถาบันการเงินระดับโลกที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นจะยอมเข้ามาในศูนย์กลางฯ ที่มีอันดับแค่ 107
นายธีระชัย ตั้งคำถามว่า เป้าหมายแท้จริงอาจไม่ใช่ตลาดนอกประเทศ (offshore) แต่อาจเพื่อออกเงินดิจิทัลสำหรับตลาดในประเทศ (onshore) ด้วยข้อพิรุธ 2ข้อ
1.ถึงแม้มติคณะรัฐมนตรีระบุว่า ให้บริการเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในมาตรา 53 (2) มีการสอดไส้ให้บริการแก่ผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศเอาไว้ด้วย
2.หนังสือของกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย แต่ในร่าง พ.ร.บ. ตัดเงื่อนไขนี้ออกไป จึงส่อพิรุธว่า เป้าหมายที่แท้จริงอาจเพื่อการออกเงินดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นเงินตราสำหรับใช้ในประเทศ
นายธีระชัย ยังตั้งข้อสงสัยว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายแฝงเพื่อปลดล็อคสองปัญหาเรื่องเงินดิจิทัล ปัญหาที่หนึ่ง ปัจจุบันการพิจารณาอนุญาตตามกฎหมายเงินตราต้องผ่าน ธปท. ซึ่งอาจจะไม่เห็นด้วย ร่างมาตรา 10 ปลดอำนาจ ธปท. ไปให้คณะกรรมการพิจารณาแทน ปัญหาที่สอง ปัจจุบันการพิจารณาอนุญาตเชื่อมเงินดิจิทัลกับระบบบาทเนต ซึ่ง ธปท.อาจจะไม่เห็นด้วย ร่างมาตรา 36 ได้ปลดอำนาจในกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงินทิ้งไปเลย