‘ศิธา’ จี้ กกต.ทบทวนการออกระเบียบยกเลิกการรายงานผลนับคะแนนแบบเรียลไทม์
‘ศิธา’ จี้ กกต.ทบทวนการออกระเบียบ หลังยกเลิกการรายงานผลนับคะแนนแบบเรียลไทม์หวั่นซ้ำรอย ปมบัตรเขย่งปี 62 เชื่อหลังเวลาปิดหีบ เกิดความวุ่นวาย ส่อเกิดทุจริตขึ้นแน่นอน
น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึง ราชกิจจานุเบกษาที่ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ลงนามโดย ประธานกกต. ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นการยกเลิกระเบียบเดิมที่เคยใช้มาเมื่อปี 2561 โดยอ้างว่ากติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนไป ก็ต้องออกระเบียบใหม่ที่สอดคล้องกัน
ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ในส่วนที่ 2 ของหมวดที่ 6 ซึ่งเดิมกำหนดให้สำนักงาน กกต. มีแอปพลิเคชัน รายงานผลแบบเรียลไทม์ ทำให้ประชาชนโดยทั่วไป สามารถทราบคะแนนเป็นรายนาที และสามารถนำมาเช็คกับผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประกาศโดย กกต. ว่าคะแนนที่ได้ออกมาสมเหตุสมผล และมีความโปร่งใสน่าเชื่อถือหรือไม่ แต่การรายงานผลแบบเรียลไทม์นี้กลับถูกยกเลิกไปด้วย ทำให้ พี่น้องประชาชนรวมถึงผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่สามารถทราบข้อมูลการนับคะแนนจากทาง กกต.ได้เลยจนกว่ากรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะประกาศผลการเลือกตั้งลงในเว็บไซต์ของ กกต.หลังผ่านไป5 วันแล้วใช่หรือไม่ เพราะจากระเบียบใหม่ จะมีเพียงในส่วนที่ 1 ของหมวด ที่ 9 ที่ได้วางแนวทาง การรวมผลการนับคะแนนเลือกตั้งไว้
ตนเองเห็นว่าระเบียบต่างๆ รวมถึงวิธีการที่ใช้ประกอบการเลือกตั้ง ที่ กกต.ได้กำหนดมาหลายอย่าง อาจนำมาซึ่งข้อสงสัยถึงความเที่ยงธรรม ไม่ว่าการสลับพื้นที่แต่ละเขตเลือกตั้ง จน ส.ส.แบบแบ่งเขต แทบจะกลายเป็น ส.ส.แบบแบ่งแขวง การนับบุคคลต่างด้าวซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งมารวมเป็นประชากรในการแบ่งเขต รวมถึงการยกเลิกระเบียบข้อบังคับต่างๆ ในครั้งนี้ อาจเอื้อประโยชน์ให้บางพรรคการเมือง และอาจเปิดช่องให้มีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้
ซึ่งการจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใส ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น จนถึงการประกาศผลอย่างเป็นทางการ เป็นหน้าที่ของ กกต. หาก กกต.สร้างข้อกังขาให้กับประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนการออกระเบียบ ในท้ายที่สุดการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจมีข้อครหา คล้ายกับการเลือกตั้งปี 62 ที่เกิดกรณีบัตรเขย่ง และจะเกิดข้อสงสัยมากกว่าเดิม
ดังนั้นคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงต้องเร่งชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าว เพื่อคลายความกังวลของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้การทำงานของพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังปล่อยให้เกิดการกำหนดกติกาในลักษณะเช่นนี้ออกมาใช้บังคับ ก็จะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความโปร่งใส โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่