’ภูมิธรรม‘ ถก สมช. หารือปัญหาชายแดนใต้ – เมียนมา
’ภูมิธรรม‘ ถก สมช. หารือปัญหาชายแดนใต้ – เมียนมา มอบ ผู้ช่วย รมว.กลาโหม – เลขาฯ สมช. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลให้ได้ความชัดเจน ยัน ไม่แทรกแซงการเมืองภายในเมียนมา และยืนอยู่ในฝ่ายผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการพูดคุยตามแนวทางประชาธิปไตย พร้อมเน้นย้ำ ภัยคอลเซ็นเตอร์ – ยาเสพติด – ค้ามนุษย์
วันนี้ (17 ม.ค. 68) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ได้รับแจ้งสถานการณ์ทั่วไปในภูมิภาคนี้ ที่เกิดขึ้นบริเวณรอบๆ ประเทศเรา ซึ่งเป็นวาระปกติที่ขอมีการรายงานมาโดยตลอด เพราะสภาพสถานการณ์การเมือง และสถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราก็ต้องเร่งดำเนินการปรับตัวเราเองให้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เรื่องต่อมา ที่มีการพูดคุยในที่ประชุม คือสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากที่ตนเคยมอบหมายให้ สมช. ไปหาข้อสรุปในเรื่องนี้ ซึ่งมีการดำเนินการ และได้พบกับหลายส่วน โดยตนได้มอบ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ เลขาฯ สมช. ร่วมพูดคุยด้วย โดยมีการเชิญหน่วยงานต่างๆ มาพูดคุย และได้ข้อสรุปเบื้องต้นออกมาเป็นรายงานที่ประชุมทราบ และมีข้อสังเกตต่างๆ มากพอสมควร จนในที่สุดได้มอบหมายให้ทำให้รอบคอบยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ จะทำให้มีผลต่อการกระทำมากขึ้น
อีกทั้ง ได้มอบหมายให้ สมช. เตรียมสรุปครั้งสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง โดยให้มีการปรึกษาหารือเพื่อสรุปศึกษา ซึ่งไปพบแต่ละหน่วยงานที่ทำในเรื่องนี้ เพื่อสรุปประเด็นที่ทำให้มีเวลาพูดคุยได้มากขึ้น เพราะขณะนี้ ทุกฝ่ายก็มีภารกิจค่อนข้างมาก จึงให้ สมช. เป็นผู้เริ่มต้น และพูดคุยกับทุกหน่วยงานเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนเอาเข้าที่ประชุมครั้งหน้า หากในที่ประชุมครั้งหน้าไม่ติดอะไร ก็จะได้ดำเนินการต่อไป
“อยากให้เกิดการเข้าใจร่วมกันชัดเจน ทั้งในระดับนโยบาย และปฏิบัติ และต้องเกิดการบูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้เห็นภาพโดยรวม และดำเนินการ ก็คงต้องนออีกสักครั้งหรือสองครั้ง ถือว่ามีข้อสรุปเบื้องต้นเป็นแนวทางดำเนินการ“ นายภูมิธรรม กล่าว
ส่วนเรื่องที่ 3 คือเรื่องสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ตนก็ได้รับฟังรายงานต่างๆ เพราะสถานการณ์ในประเทศเมียนมามีผลกระทบโดยตรงกับชายแดนไทย และมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยที่เป็นลักษณะพิเศษ ที่ไม่ใช่แค่รัฐบาลรัฐเดียวจะดำเนินการได้ เราจึงจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศเรา ซึ่งก็มีการเสนอให้เราดำเนินการ โดยเสนอโครงสร้างแผนการดำเนินงานให้ที่ประชุมได้พิจารณา แบะเราได้สรุปแล้วว่า เราต้องระมัดระวังไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเขา
ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หรือแนวทางแก้ปัญหา เราเป็นประเทศที่อยู่ติดที่สุด ฉะนั้นเราต้องระมัดระวังท่าที และอำนวยการให้ประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสหารือกับประเทศเมียนมาด้วย เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งเราได้มีการลงมติเห็นชอบกับแนวทางที่ปฏิบัติ ที่จะยืนอยู่ในฝ่ายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการพูดคุยกัน เพื่อให้ความสงบขึ้น และแนวทางในการไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้มากยิ่งขึ้น
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า เราคิดว่า หลังจากนี้เราต้องคำนึงถึงเรื่องชายแดนไทยกับเมียนมาในหลายจุดที่เกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคง เช่น ภัยจากคอลเซ็นเตอร์ ภัยจากยาเสพติด และภัยจากการค้ามนุษย์ ที่มีผลร้ายต่อทุกคน ซึ่งได้เน้นย้ำเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ
“โดยสรุปคือ 1.เราสนับสนุนให้ประเทศเมียนมามีความสงบสุข เกิดประชาธิปไตยให้เป็นที่ยอมรับโดยเราจะเป็นผู้เอื้ออำนวย 2.ให้มีการหารือกัน และมีแนวที่ชัดเจนว่าเราจะปกป้องประชาธิปไตยบนพื้นที่ของเรา ในการคำนึงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นภัยพิบัติต่อความมั่นคงที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือภัยธรรมชาติ“ นายภูมิธรรม กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างไรให้เป็นรูปธรรมนั้น นายภูมิธรรม ระบุว่า อยู่ในกระบวนการนี้ เรากำลังคุยกันอยู่ ซึ่งเมื่อเรามาอยู่ตรงนี้แล้ว เหตุการณ์ก็เปลี่ยนแปลงมาพอสมควรแล้ว เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพยายามสรุปเรื่องราวต่างๆ ให้ชัดเจน และจะดำเนินการในแต่ละเรื่องให้ชัดเจนขึ้น