POLITICS

‘พริษฐ์‘ ทวงสัญญารัฐบาล ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนเลือกตั้งปี 70

‘พริษฐ์‘ ทวงสัญญารัฐบาล ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนเลือกตั้งปี 70 เชื่อทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ เตือนนายกฯ ปิดรอยร้าวความเห็นต่างระหว่างพรรคร่วม-สส.-สว.

วันนี้ (16 ธ.ค.67) นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในงานเสวนา “ทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย: การทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับแนวทางการแก้ไขรายมาตรา“ ณ ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าพรรคประชาชนนับตั้งแต่พรรคก้าวไกล ต้องการเดิน 2 เส้นทางคู่ขนานในการแก้รัฐธรรมนูญ เส้นทางแรกคือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งขาดความชอบธรรมในประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการและเนื้อหา เส้นทางที่ 2 คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในรายประเด็นที่สามารถแก้ไขได้ก่อน

เป้าหมายสำคัญคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี หากมีประเด็นไหนที่สามารถแก้ไขรายมาตราได้ก่อนก็จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองและประเทศ ทั้งนี้หากไปดูในประวัติศาสตร์โดยเฉพาะในปี 2535 และปี 2540 เส้นทางการเดินแบบคู่ขนานเช่นนี้เคยทำมาแล้ว เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมีการแก้ไขรายมาตราในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อเราเลือกเดินเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมักเจอข้อโต้แย้งจากการเมืองบางฝ่าย ที่ถามว่าการจัดทำฉบับใหม่จะแก้เรื่องอะไรบ้าง รัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีปัญหาอะไรบ้าง แต่ถ้าแก้รายมาตราอาจเจอคำถามว่าจัดทำฉบับใหม่แล้วจะแก้รายมาตรา คิดแทน ส.ส.ร.ทำไม จึงต้องเดิน 2 เส้นทางคู่ขนาน

หากดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคประชาชนเสนอต่อรัฐสภาจะแบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ หมวดหมู่แรกเราพยายามยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มหมวด 15/1 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 และมีร่างอื่น ๆ อีก 10 ฉบับ จะเป็นการแก้ไขรายมาตรา ซึ่งพรรคประชาชนได้ยื่นต่อรัฐสภาแล้ว เช่น ลบล้างผลพวงรัฐประหารเพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริตคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนปฏิรูปกองทัพของเขตศาลทหารยกระดับประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐสภาและคณะกรรมธิการ นอกจากนี้ยังมีร่างแก้ไขบางฉบับที่ยังไม่ได้ยื่น เช่น การออกแบบอำนาจของรัฐสภาและองค์กรอิสระ

นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนตีความคำวินิจฉัยที่ 4/2564 สอดคล้องกันว่าทำประชามติ 2 ครั้ง น่าจะเพียงพอตามความจำเป็นทางกฎหมาย หากพิจารณาความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จะพบว่าตุลาการ 5 ใน 9 คนพูดชัดเจนว่าทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ 2 คน มีความเห็นเหมือนคำวินิจฉัยกลาง 1 คน เห็นว่าควรทำประชามติ 3 ครั้ง และอีก 1 คน เห็นทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เลย

ทั้งนี้การลดจำนวนการจัดทำประชามติจาก 3 ครั้งเหลือ 2 ครั้ง มีความสำคัญมากที่จะทำให้รัฐบาลรักษาสัญญากับประชาชนไว้ได้ เนื่องจากรัฐบาลสัญญาว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หากเดินตามโร้ดแมปเดิมของรัฐบาล มีการจัดทำประชามติ 3 ครั้งและจะไม่ทำประชามติครั้งแรกจนกว่าจะทำ พ.ร.บ.ประชามติเสร็จก็จะไม่ทันการเลือกตั้งครั้งหน้า หากลดจำนวนการทำประชามติเหลือ 2 ครั้งก็ยังจะมีความเป็นไปได้ ที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งปี 2570

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะจัดทำสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 กลุ่มบุคคลคือ ประธานสภาฯ และสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ตนเองทำหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพราะปัจจุบันมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างสองสภาฯ

“นายกฯ เห็นความเห็นที่แตกต่างระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คิดว่ารอยร้าวระหว่าง สส.และ สว.เป็นรอยร้าวเดียวกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ คนที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปิดรอยร้าวทำให้ทุกฝ่ายเดินหน้า ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ หัวหน้ารัฐบาล หรือนายกฯ“ นายพริษฐ์ ทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend