POLITICS

นายกฯ รับฟังการแถลงผลงาน กพต. และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 66

นายกรัฐมนตรี รับฟังการแถลงผลงาน กพต. และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 66 ชื่นชม กพต.และทุกภาคส่วนร่วมกันทำงานเกิดผลชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาคมโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (16 ธ.ค. 65) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการรับฟังการแถลงผลงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในห้วง 3 ปีที่ผ่านมา และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2566 (ห้วงไตรมาส 1) ตามนโยบายรัฐบาล และ กพต. ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความมั่นคงด้วยการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและพื้นที่มีความมั่นคงปลอดภัย
สู่ความมั่งคั่งด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำลดลง และความยากจนได้รับการแก้ไข และสู่ความยั่งยืนด้วยการพัฒนาพื้นที่ภายใต้แนวคิด BCG Model และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน และนำสันติสุขกลับสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแนวความคิดนโยบายการปฏิบัติของหลายประเทศทั่วโลกมีความหลากหลายมากขึ้น จึงขอให้ทุกคนพัฒนาปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ภายหลังที่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 12-15 ธ.ค. 65 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมที่ผ่านมา จากการพบปะหารือกับผู้นำของประเทศต่าง ๆ นั้น หลายประเทศต่างชื่นชมประเทศไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารราชการเรื่องต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเงินการคลัง ตลอดจนด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการนำศักยภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ขับเคลื่อนทั้งเรื่องของธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม โดยเฉพาะภาคใต้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีสถานที่แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและมีศักยภาพด้านธรรมชาติที่หลากหลายด้วย
ทั้งนี้ ภายใต้ที่ไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในห้วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การทำงานของ กพต. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็มีความก้าวหน้าและดีขึ้นโดยลำดับ แม้จะยังมีความรุนแรงอยู่บ้างซึ่งเกิดจากความคิดและการเคลื่อนไหวของคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ความรุนแรงก็ลดลงบ้างแล้ว ซึ่งก็ขอให้ทุกฝ่ายหาแนวทางร่วมกันในการที่จะทำให้ความรุนแรงลดน้อยลงให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การทำให้สถานการณ์ยุติลงและเกิดความสงบสุข
นายกรัฐมนตรีได้มีการหารือร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการที่จะร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมไปถึงการร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับการพัฒนาและแนวนโยบายของทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการ กพต. ที่ทำงานด้วยความเสียสละ ทุ่มเท มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาไปในทิศทางเชิงบวกที่ชัดเจนขึ้นหลายด้าน ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การอำนวยความเป็นธรรม การสร้างพหุสังคมที่มีความเข้มแข็ง เป็นต้น รวมถึงการได้รับแรงสนับสนุนจากภายนอกประเทศ องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ซึ่งก็เข้าใจถึงสถานการณ์ของประเทศไทยดี จนสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชน ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเทศไทย “ทั้งประเทศ” และประชาคมโลกได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำว่าแม้ผลการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติของ กพต. และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเกิดความสำเร็จในหลายด้าน แต่ก็ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันมุ่งมั่นและทุ่มเท ขยายผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อนำพาความสันติสุขที่แท้จริงและยั่งยืน มาสู่ “ดินแดนปลายด้ามขวานทอง” ของไทยให้จงได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบาย “การขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำหลักคิดและหลักปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่
(1) การประยุกต์ศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” หมายถึง “เข้าใจถ่องแท้…ถึงภูมิสังคม” คือ เข้าใจพื้นที่ ผู้คน ความเป็นอยู่ จารีต ประเพณี และเข้าใจปัญหา “เข้าถึงจิตใจ…ใจถึงใจ” ให้ถึงขั้นเปิดใจต้อนรับ รับรู้ รับฟัง แลกเปลี่ยนกัน แล้วนำไปสู่การ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ไม่แบ่งเขา ไม่แบ่งเรา ทุกคนเป็นคนไทย…ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร และต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ
(2) หลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” และให้ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยฟังเสียง และฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่โดยไม่ใช่เป็นการกระทำที่ยัดเยียดหรือคิดแทนในสิ่งที่ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำองค์กรต่าง ๆ เช่น ผู้นำองค์กรศาสนา “ทุกศาสนา” แกนนำเด็ก-เยาวชน-สตรี เป็นต้น ต้องนำทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม สำหรับการสร้างโอกาสการพัฒนา ทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคเอกชน โดยรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดสรรทรัพยากรเข้ามาสนับสนุน และทำงานอย่างบูรณาการกัน ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ที่ต้องโจทย์ประชาชน หรือชาวชุมชน “เจ้าของพื้นที่”

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำถึง 3 ภารกิจที่จะต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ล้วนก่อให้เกิดประโยชน์และความสุขต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมอบหมายให้ ศอ.บต. สมช. และสำนักงาน กปร. ประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำงาน เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินการได้ตามแผนงาน
(2) การเชื่อมโยงแผนงาน โครงการ “แบบ 360 องศา” โดยประสานสอดคล้องแผนงานระดับชาติ ระดับภูมิภาค กลุ่มจังหวัด จังหวัด และแต่ละท้องถิ่น เช่น โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ได้แก่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี : “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมเกษตร” อ.เบตง จ.ยะลา : “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส : “เมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ” ที่ได้มีการขยายผล แตกแขนง เป็นหลายโครงการระดับพื้นที่แล้ว เช่น โครงการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจใหม่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล และโครงการเมืองผลไม้แบบครบวงจร เป็นต้น และ
(3) การดูแล คุ้มครอง ช่วยเหลือให้พระสงฆ์ และชาวไทยพุทธในพื้นที่ สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้เป็นปกติสุข หมายรวมถึง การปฏิบัติศาสนกิจของทุกศาสนาสามารถดำเนินได้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเจริญงอกงามของพหุสังคม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกส่วนราชการในฐานะ กพต. ได้ทบทวนว่ายังคงมีเรื่องใดที่ กพต. ได้เคยมีมติเห็นชอบเป็นหลักการไว้หรือไม่ รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การพัฒนา ครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศ มาพิจารณาเปรียบเทียบการดำเนินการในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อให้เห็นถึงการดำเนินการที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา พร้อมให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วนและต่างประเทศ ถึงผลสำเร็จที่เกิดขึ้นและการดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การดำเนินการสิ่งใดก็ตามต้องระมัดระวังอย่างที่สุดและรอบคอบ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การอำนวยความยุติธรรม รวมถึงการทุจริตจะต้องไม่เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด จึงขอให้ทุกคนยึดมั่นตามนโยบายรัฐบาลโดยการทำทุกอย่างให้โปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เพื่อมุ่งหวังให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข และปลอดภัย โดยเรื่องใดที่จำเป็นจะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบตามอำนาจหน้าที่ ก็ขอให้เร่งรัดดำเนินการเสนอเข้ามาเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดทำคำของบประมาณประจำปี และดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ให้ ศอ.บต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อประมวลผลการทำงานที่สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริงในปี 2566 และให้เสนอเป็นรายการของขวัญเพื่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2566 ให้ ครม. พิจาณาอนุมัติต่อไป พร้อมขอบคุณและชื่นชม กพต. และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำงานเพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้พัฒนาต่อเนื่องและเข้มแข็งเช่นภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และให้ภาคใต้มีรายได้ที่สูงขึ้น มีอนาคตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนภารกิจของทุกส่วนราชการอย่างเต็มที่ ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมประสบความสำเร็จต่อไป

จากนั้นนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามมติ กพต. ระยะที่ผ่านมาที่ประสบผลสำเร็จเกิดผลเป็นรูปธรรม และโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนในปี 2566 (ห้วงไตรมาส 1) โดยเลขาธิการ ศอ.บต.และผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำเยี่ยมชม

Related Posts

Send this to a friend