‘อนุทิน’ เล็งคุยเรื่องงบป้องกันน้ำท่วมกันใหม่ หลังมหาดไทยถูกโยกงบให้ สทนช.ดูแล
‘อนุทิน’ เล็งคุยเรื่องงบป้องกันน้ำท่วมกันใหม่ หลังมหาดไทยถูกโยกงบให้ สทนช.ดูแล ทำให้ทำงานยาก ส่วนหนองคาย-นครพนม ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ว มีเงินทดรองเยียวยาไม่ต้องรออนุมัติ
วันนี้ (16 ก.ย. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รอฝนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่น้ำท่วมว่า การช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งเรื่องอาหาร เวชภัณฑ์ ที่พักพิง และเครื่องมือเครื่องจักรที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ยืนยันได้ว่าพร้อมและลจะระดมพลเข้าไป ในจังหวัดเชียงรายก็จะหนักหน่อย เพราะมีโคลนหรือดินที่เข้าไปอยู่ในบ้าน ต้องเร่งทำความสะอาด เอาออกมาให้หมดก่อนที่จะแห้ง ถ้าเป็นดินเหนียวก็จะยาก
โดยวันนี้เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมเพื่อตั้งศูนย์บัญชาการแห่งชาติ เรื่องภัยพิบัติน้ำท่วม ส่วนข้อสั่งการที่ตนเองได้รับจากนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.67 คือเร่งเข้าไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชนและให้กระทรวงมหาดไทยนำเสนอเรื่องบัญชีเป็นรายครัวเรือนว่าแต่ละครัวเรือนจะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของเม็ดเงิน เรามีแนวทางและมาตรการอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟผ.) รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการมาให้ตนไปให้นโยบายกับทางคณะกรรมการขงรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง ให้หาวิธีช่วยเหลือเยียวยา เช่น ค่าไฟ ค่าน้ำ ในพื้นที่ประสบภัย ถ้าไม่ต้องจ่ายเงินในเดือน ก.ย. ได้ก็ทำเลย ถ้าทำไม่ได้หรือผิดกฎอะไรก็จะลดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของประชาชน ทั้งนี้ กำลังเร่งประชุมคณะกรรมการอย่างเร่งด่วน ฉะนั้นเรื่องการเยียวยาเราเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่
ส่วนการป้องกัน ต้องยอมรับว่าใน พ.ร.บ.ทั้งหลาย เรื่องของการวางแผนป้องกันอุทกภัยจะอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ดังนั้นกระทรวงมหาดไทย เรื่องงบป้องกันถูกตัดหมดเลย คงต้องมานั่งคุยกันใหม่ สำหรับงบประมาณปี 2569 ถ้าไม่ให้ทำเรื่องการป้องกัน ก็ต้องไปอัดงบป้องกันที่ สทนช. และต้องเพิ่มองคาพยพต่าง ๆ ให้เขาสามารถทำเรื่องป้องกันได้
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงพื้นที่ริมแม่น้ำโขง หนองคายและนครพนม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย เมื่อประกาศก็จะมีเงินทดรองในการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านโดยที่ไม่ต้องรอการอนุมัติ ถ้าวงเงินใช้หมดแล้วไม่พอก็ทำเรื่องขยาย เหมือนจังหวัดเชียงรายที่ได้ดำเนินการก่อนหน้าและนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้ความเห็นชอบ ส่วนเรื่องเงินชดเชยความเสียหาย จะมีเกณฑ์อยู่ ถ้ามีความเสียหายของบ้านเรือน คาดว่าจะประมาณ 49,000 บาท ย้ำว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่เราต้องพยายามหาวิธีการวางแผนป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุทกภัยซ้ำซากมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งภายนอกประเทศ
สำหรับงบประมาณที่ใช้บริหารสถานการณ์และเยียวยาประชาชนว่ามีเพียงพออยู่แล้ว ถ้างบประมาณสำหรับภัยพิบัติ รวมทั้งงบกลาง ที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลยพินิจ อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หากจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน ยืนยันว่างบประมาณมีเพียงพอ แต่จากนี้ต้องหาวิธีการ วางแผนป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก เนื่องจากมีทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกที่ต้องพูดคุยเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง