POLITICS

‘ณัฐพงษ์’ ไม่เห็นด้วย นิติสงคราม ทำลายเสียงประชาชน ‘ยุบพรรค – ถอดถอนนายกฯ‘

‘ณัฐพงษ์’ อภิปราย ไม่เห็นด้วยกระบวนการนิติสงคราม ทำลายเสียงประชาชน ‘ยุบพรรค – ถอดถอนนายกฯ‘ ชี้ ต้องแก้ที่ต้นตอ แนะ 3 หลักการใหญ่ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ – ปรับกฎหมายยุบพรรค – ทบทวนจริยธรรมนักการเมือง”

วันนี้ (16 ส.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 เป็นพิเศษ ภายหลังพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร เป็นบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังจะดำเนินการประชุมสู่การลงคะแนนด้วยการขานชื่อ

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นอภิปราย ว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และยืนยันว่า ไม่ใช่เวทีในการอภิปรายเรื่องคุณสมบัติ หรือนโยบายของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่จะขออภิปรายไว้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

“พวกเราไม่เห็นด้วยในกระบวนการนิติสงครามโดยกลุ่มชนชั้นนำ มาทุบทำลายอำนาจที่มาจากพ่อแม่พี่น้องประชาชน ภารกิจของ สส. ทุกคน รวมถึงของนายกฯ คนต่อไป คือการแก้ปัญหาต้นตอที่ทำให้เราต้องมานั่งอยู่ในสภาวันนี้ซึ่งเป็นเรื่องของเราทุกคน” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ อภิปรายต่อว่า ตั้งแต่การก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกในปี 2541 ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 111 พรรค รวมกรณีพรรคก้าวไกล แม้จะมีหลายกรณีที่ยุบเพราะขาดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ แต่ก็มีหลายกรณีที่เป็นการเมือง เช่น พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล สมาชิกหลายคนในห้องประชุมแห่งนี้ ล้วนเป็นเหยื่อจากคำตัดสินทางการเมือง และได้รับผลกระทบจากการให้อำนาจล้นเกินแก่ศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง รวมถึงกรณีอื่น เช่น การถือหุ้นสื่อ ตลอดจนกรณีถอดถอนนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง เช่น นายสมัคร สุนทรเวช, นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และล่าสุด คือ นายเศรษฐา ทวีสิน

นายณัฐพงษ์ ระบุว่า นี่เป็นปัญหาของการจัดวางอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่น ๆ ไม่ให้รุกล้ำเขตแดนอำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติจนล้นเกิน ซึ่งจะมีช่วงเวลาไหนที่ประมุขฝ่ายบริหาร และรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปพร้อม ๆ กันในเวลาไม่กี่วัน จนเกิดสุญญกาศทางการเมือง ตนเองมองว่า ที่ผ่านมา เราเห็นได้ไม่กี่ครั้ง นอกจากกรณีการเกิดรัฐประหารโดยกองทัพ แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป ที่ตนเองคิดว่าเรากำลังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบอีกรูปแบบหนึ่ง

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของตนเอง คือ 2 เมษายน 2549 แต่ท้ายสุดผลการเลือกตั้งก็เป็นโมฆะ ทำลายเสียงของตนเองที่ออกไปใช้สิทธิ์เป็นครั้งแรก เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คูหาเลือกตั้งหันออกนอกหน่วย ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยตรงและลับ คำวินิจฉัยแบบนี้ ที่ทำร้ายจิตใจ สร้างแผลบาดลึกให้กับประชาชนคนไทยทุกคน รวมถึงตัวตนเองที่ได้ออกไปเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในชีวิต

นายณัฐพงษ์ เชื่อว่า ทั้งสมาชิก และประชาชน ล้วนประสบบาดแผลและได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ มาด้วยกัน ตลอด 7 ปี หลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ถูกใช้เป็นเครื่องกลั่นแกล้งจากกลุ่มชนชั้นนำ โจทย์ปัจจัยสำคัญของพรรคประชาชนในขณะนี้ คือการสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ ทำอย่างไรให้เรามีนายกรัฐมนตรีคนถัดไปมาทำหน้าที่เร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศเราไม่ต้องเกิดสุญญากาศทางการเมือง และเกิดสุญญากาศในการบริหารราชการแผ่นดิน

นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญของพวกเราในสภานี้ คือช่วยกันสานต่อภารกิจ 3 ประการ คือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงองค์กรอิสระ ให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักสากล จะมีการปรับปรุงโทษและกติกาที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่ายแต่ตายได้ยาก และมีความยึดโยงกับฐานสมาชิกพรรค เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ทำอย่างไรที่มีการทบทวนมาตรฐานจริยธรรม ให้เป็นเรื่องความรับผิดรับชอบทางการเมืองของนักการเมืองให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินไม่ใช่องค์คณะไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสิน

“เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีต่อจากนี้ ในรัฐสภาชุดนี้ ในวาระที่เรามีร่วมกัน เราสามารถผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้ และในการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมนำเสนอนี้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้ได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้ง จากอำนาจสูงสุดของประชาชน ให้สามารถดำเนินนโยบายแก้ไขกฎหมายบริหารประเทศ เพื่อตอบเจตจำนงประชาชนได้อย่างดีที่สุด” นายณัฐพงษ์ กล่าว

นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การลงมติของพรรคประชาชนต่อจากนี้ เราจะลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเราต้องการสงวนจุดต่างใช้หลักการเดียวกันกับที่เราได้โหวตเลือกนายเศรษฐาไปเมื่อปีที่แล้ว ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลแบบนี้ เราเคารพท่าน และก็เชื่อว่า ทุกท่านจะเคารพในความเห็นของพวกเรา แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนวาระร่วมอื่น ๆ ก็อยากให้ทุกท่านช่วยกันเดินหน้าต่อไป

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat